10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
โอนสถานีอนามัยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คืนสุขภาพ...ให้ประชาชน

ก้าวแรกของการกระจายอำนาจด้านสุขภาพแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 เมื่อนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานส่งมอบภารกิจสถานีอนามัย จำนวน 22 แห่ง ใน 16 จังหวัดให้แก่ อบต. และเทศบาล ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พ.ศ. 2542  รูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ของสถานีอนามัยและอปท.นี้จะเป็นอย่างไร คงจะเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองและช่วยกันสนับสนุนแก้ไขปัญหา เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น

การกระจายอำนาจคือพันธกิจตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540ระบุไว้ในมาตรา 78 ว่า “รัฐต้องกระจายอํานาจให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่นให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ…โดยคํานึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น” และมาตรา 284 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการกําหนดนโยบายการปกครองการบริหารการบริหารงานบุคคล การเงินและการคลังและมีอํานาจหน้าที่ของตนเอง ผลพวงของบทบัญญัติดังกล่าว นำมาสู่กฎหมายลูกหลายฉบับ หนึ่งในนั้นคือพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการรับภาระหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้กับชุมชนแทนภาครัฐ ด้วยเจตนาที่จะให้ท้องถิ่นพึ่งพาตนเองตัดสินใจในกิจการสาธารณะเอง และประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ดีขึ้น 

ภาคปฏิบัติการของการกระจายอำนาจที่เป็นผลจากบทบัญญัติทางกฎหมายข้างต้น คือ การจัดตั้งคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประกอบด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น 36 คน กำหนดแผนปฏิบัติการให้มีแนวทางการกระจายอำนาจสู่  

อปท.อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการจัดระบบการบริการสาธารณะ สัดส่วนภาษีอากรและรายได้ หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจจากราชการส่วนกลางและภูมิภาคให้แก่ อปท. ไปจนถึงมาตรการทางด้านการเงินการคลังและงบประมาณต่าง ๆ โดยมีระยะเวลาทั้งสิ้นภายใน 4 ปี สำหรับท้องถิ่นที่มีความพร้อม และภายใน 10 ปีสำหรับท้องถิ่นที่ยังไม่พร้อม

นับแต่มีแผนปฏิบัติการกําหนดขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. 2544 ซึ่งกําหนดให้มีการถ่ายโอนภารกิจทั้งสิ้น 245 งานใน6ภารกิจคือ (1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน(2) งานส่งเสริมคุณภาพชีวิต(3) การจัดระเบียบชุมชน/สังคมและการรักษาความสงบเรียบร้อย(4) การวางแผนการส่งเสริมการลงทุนพาณิชยกรรมและการท่องเที่ยว (5) การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และ (6) ด้านศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 50 กรมใน 11 กระทรวง ที่ผ่านมาถึงปี 2549 ได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้แก่อปท. ทุกรูปแบบแล้วจํานวน180ภารกิจคงเหลือภารกิจที่ยังไม่มีการถ่ายโอนบางส่วนจํานวน64ภารกิจ

พันธกิจของกระทรวงสาธารณสุขในการถ่ายโอน

แผนปฏิบัติการฯได้กำหนดการกระจายอำนาจด้านสุขภาพไว้ เริ่มต้นจากการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ขึ้นมารองรับการถ่ายโอนสถานบริการสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการถ่ายโอนในลักษณะเครือข่าย (เป็นพวง) และให้มีการถ่ายโอนงานหลักประกันสุขภาพ (30 บาท) ให้แก่ กสพ. ภายในปี พ.ศ. 2546โดยภารกิจที่ไม่ซับซ้อนจะถ่ายโอนให้ อปท. โดยตรง ส่วนภารกิจที่ซับซ้อนจะถ่ายโอนให้ กสพ. ไปก่อน และให้ กสพ. ถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวให้กับ อปท.ที่มีความพร้อมต่อไป

ภารกิจที่จะถ่ายโอนสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ได้แก่ ภารกิจด้านการรักษาพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการฟื้นฟูสภาพครอบคลุมทั้งกิจกรรมที่บริการเฉพาะบุคคล ครอบครัว หรือภารกิจที่ดำเนินการในชุมชน เช่น การพัฒนาสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันโรค และการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีข้ออ้างว่าหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบมาตรฐานบริการ และสร้างความพร้อมในภารกิจที่ต้องถ่ายโอนไป


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333