10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
สี่ปีความรุนแรงของไฟใต้ ...ความถี่ลด ความโหดร้ายขยายตัว

แม้การเมืองในรอบปีที่ผ่านมาจะเข้มข้นจนครอบครองพื้นที่ข่าวส่วนใหญ่ แต่สถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ทวีความโหดอำมหิตอย่างถึงขีดสุด  ก็ชิงพื้นที่ข่าวหน้าหนึ่งกลับมาได้อย่างต่อเนื่องไม่แพ้กัน  แม้ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่จะไม่พอใจการกระทำของกลุ่มคนร้าย แต่อีกไม่น้อยก็ยังคงไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ของรัฐบาล คือ การเปิดยุทธการ“พิทักษ์แดนใต้” ใช้วิธีการปิดล้อม ตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายหลายแห่ง และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจำนวนมากไปสอบสวนในค่ายทหาร ก่อนส่งตัวไปฝึกอบรมวิชาชีพ  มาตรการดังกล่าว ไม่ช่วยให้ความถี่ของเหตุรุนแรงลดลง แต่กลับเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนกลายเป็นการบ่มเพาะความขัดแย้งครั้งใหม่ จนไม่แน่ใจว่า เราเดินมาถูกทางจริงหรือ?

ความคาดหวังต่อรัฐบาลสุรยุทธ์

วิถีชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อ. จะนะ อ. เทพา อ. นาทวี และ อ. สะบ้าย้อย ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้กฎหมายพิเศษ เช่น พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2548 และขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปเรื่อยๆ 

รถถังหุ้มเกราะและเจ้าหน้าที่ทหารในชุดพรางพร้อมอาวุธครบมือกลายเป็นภาพชินตาของคนในพื้นที่ แต่เหตุร้ายรายวันไม่ว่าจะเป็นลอบยิง ลอบวางเพลิง และลอบวางระเบิด ยังคงเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน โดยชาวบ้านที่ไร้อาวุธยังคงตกเป็นเป้าของการโจมตีสูงสุด

รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แบกรับความคาดหวังที่สูงยิ่งของคนไทยว่าจะสามารถนำความสงบสุขกลับคืนสู่ชายแดนใต้ได้ด้วยปัจจัยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงให้เป็นเอกภาพ โดยเฉพาะการฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประกอบกับมีบุคคลสำคัญนับถือศาสนาอิสลาม ทั้งพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)  และนายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมทำงานคลี่คลายปัญหาในภาคใต้

ขณะเดียวกันรัฐบาลมองว่าหมู่บ้านต่างๆ คือจุดแตกหักที่แท้จริงของการแก้ไขปัญหาความรุนแรง จึงปรับโครงสร้างงานมวลชนในระดับหมู่บ้านด้วยการออกมติคณะรัฐมนตรี 16 มกราคม 2550 เพิ่มอัตรากำลังผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา จำนวน 1,200 อัตรา ใน 300 หมู่บ้าน พร้อมอนุมัติงบประมาณสนับสนุน 61 ล้านบาท

แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ นับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ปี 2550 เหตุร้ายรายวันไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแม้แต่น้อย จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังคงไต่ระดับเพิ่มขึ้น เสียงตอบรับในด้านบวกของหลายฝ่ายที่เห็นว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งประกาศใช้แนวทางแห่งสันติในการคลี่คลายปัญหา เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นคำถามว่ามี “ช่องโหว่” หรือความไม่พร้อมอย่างไรหรือไม่ในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงหลังการจัดกระบวนทัพปรับโครงสร้างใหม่ แต่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ย้ำชัดเจนว่าปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี ไม่อาจสงบลงได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่เป็นรัฐบาล

นายแพทย์ประเวศ วะสี อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ออกมาระบุชัดเจนว่า ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีมากขึ้นจนไม่สามารถฝากความหวังไว้กับ ศอ.บต. ได้อีกต่อไป เนื่องจากปัญหาใหญ่และซับซ้อนเกินไป และสาเหตุที่ยังแก้ปัญหาไม่ได้เพราะยุทธศาสตร์ขาดความเป็นเอกภาพ ดังนั้นนายกรัฐมนตรีและประธาน คมช. จะต้องเป็นผู้นำในการสร้างเอกภาพในยุทธศาสตร์จากทุกภาคส่วน พร้อมกับเสนอมาตรการคลี่คลายความรุนแรง 7 ประการให้รัฐบาลพิจารณา (ดูล้อมกรอบหน้า 45)

เปิดฉากแรกแห่งความโหดอำมหิต

แล้วเหตุร้ายที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศจมดิ่งอยู่กับความทุกข์ก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ 14 มีนาคม 2550  ขณะที่รถตู้โดยสารสายเบตง-หาดใหญ่ของ หจก. เบตงทัวร์ (2001) แล่นผ่านบ้านอุเบง หมู่ 4 ต.ปะแต อ.ยะหา จังหวัดยะลา คนร้ายในชุดลายพรางสีเขียวใช้ต้นไม้ขวางถนนเพื่อให้รถตู้หยุดแล้วยิงใส่รถ ก่อนจะปฏิบัติการ “จ่อยิงหัว” ผู้โดยสารทีละคนรวม 8 คน แยกเป็นผู้ชาย 3 ศพ ผู้หญิง 5 ศพ ขณะที่ผู้โดยสารอีก 2 คนบาดเจ็บ

เหตุสะเทือนขวัญครั้งนั้น ทำให้พลโทวิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ใช้กฎอัยการศึกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิวในพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ทันทีในวันรุ่งขึ้น โดยประกาศห้ามประชาชนแต่งกายเลียนแบบหรือคล้ายคลึงเครื่องแบบทหาร ห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วงเวลา 20.00 -04.00 น. ห้ามใช้คลื่นวิทยุโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขอให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสกับทางราชการ

นอกจากนี้ยังประชาสัมพันธ์เชิงรุก ชิงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นที่ต้องประกาศเคอร์ฟิว ป้องกันการฉกฉวยสถานการณ์สร้างความเข้าใจผิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ทุกช่องทางของการสื่อสารถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงตามสายประจำหมู่บ้าน รถขยายเสียงเคลื่อนที่ การขอความร่วมมือจากผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน เดินเท้าลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนตามร้านกาแฟ น้ำชา โรงเรียน ตลาดนัด มัสยิดต่างๆ แจกจ่ายใบปลิว เดินสายพบปะสื่อท้องถิ่น วิทยุชมชน เปิดสายรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านรายการวิทยุ จัดเวทีสาธารณะเคลื่อนที่ไปตามชุมชน แจกจ่ายภาพผู้ต้องหาคดีความมั่นคง เพื่อให้ประชาชนช่วยกันแจ้งเบาะแส และกำหนดเบอร์โทรศัพท์รับแจ้งข้อมูลคือ 1881 และ 08-1897-9720

แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย แต่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ยังคงยืนยันในแนวทางสันติวิธี คือใช้การเมืองแก้ไขปัญหา ไม่ใช้กำลังทางทหารสร้างความรุนแรงตอบโต้  พร้อมกับระบุว่าต้องทำให้ประชาชนหันมาร่วมมือกับภาครัฐให้มากขึ้น โดยต้องทำความเข้าใจ สร้างความเชื่อถือและความไว้วางใจขึ้นมาให้ได้ ซึ่งแม้ความรุนแรงจะยังไม่ลดลง อีกทั้งยังไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง และใครเป็นหัวหน้าขบวนการ แต่จากการประเมินผลงานถือว่าการข่าวและยุทธการทำได้ดีขึ้น มีความคืบหน้ามากขึ้น


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333