10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
ทำอย่างไรสงครามปราบมะเร็งปากมดลูก จึงจะมาถูกทาง

ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง  ปีละกว่า 3,000 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 9 ราย ในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,000 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 35 – 50 ปี ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยปีละประมาณ 350 ล้านบาท   กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  จึงผนึกกำลังกันประกาศสงครามกับมะเร็งปากด้วยลูกด้วยการทำโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัด ฟรีในโรงพยาบาลรัฐทุกจังหวัด เริ่มตั้งแต่ปี 2548 - 2553

ประกาศสงครามกับมะเร็งปากมดลูก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้หญิงไทยไม่ค่อยสะดวกใจนักเรื่องการตรวจภายใน  ดังผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2549 พบว่าผู้หญิงวัย 35-59 ปี เคยตรวจภายในร้อยละ 50 และร้อยละ 37 ไม่เคยตรวจเลย โดยที่กลุ่มผู้หญิงอายุ 55-59 ปีไม่เคยตรวจเลยมากที่สุด  รองลงมาคืออายุ 50-54  และผู้หญิงชนบทได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงในเขตเมือง ในการประกาศสงครามกับมะเร็งปากด้วยลูกด้วยการทำโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 76 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน (มีนาคม 2551)  ผู้หญิงที่มีบัตรทองอายุ 35 -60 ปี สามารถรับการตรวจแป๊ปสเมียร์ได้ฟรีในโรงพยาบาลรัฐทุกจังหวัด ภายใต้การดูแลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งจะรู้ผลภายใน 1-4 สัปดาห์

ขณะที่กรมอนามัยรับผิดชอบการจัดบริการตรวจแบบดั้งเดิมด้วยน้ำส้มสายชู  โดยริเริ่มนำวิธีการตรวจมาใช้ตรวจหาเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูกก่อนเป็นมะเร็ง ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้รับการฝึกและสามารถทำได้ใน 13 จังหวัด 5 อำเภอ  ข้อดีของการตรวจวิธีนี้คือ สามารถรู้ผลได้ภายใน 5 นาที และเป็นวิธีที่เหมาะสมในพื้นที่ที่มีทรัพยากรจำกัด เพราะเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับประสิทธิผลแล้ว มีความคุ้มค่าใช้ต้นทุนเพียง 245 บาท ขณะที่แป็ปสเมียร์ ใช้ต้นทุน 875 บาท แต่หากปล่อยให้เป็นมะเร็งในระยะที่ลุกลามแล้ว จะใช้ค่ารักษาอย่างต่ำประมาณ 20,000 บาทต่อราย แต่วิธีดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่แพทย์จำนวนไม่น้อยยังไม่ยอมรับ

ผู้หญิงไทยถูกขู่ให้กลัวมะเร็งปากมดลูก

กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทำการประชาสัมพันธ์นโยบายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทั่วประเทศ เป็นระยะๆตั้งแต่ ปี 2549 แต่สื่อกลับเลือกที่จะพาดหัวข่าวเน้นความน่าสะพรึงกลัวของโรคนี้แทน ดังเช่น 

 “หญิง 7 พันต่อปีป่วยมะเร็งปากมดลูก เผยสมุทรสาครเป็นแชมป์หญิงเสียชีวิต”

  • “พบมะเร็งปากมดลูกคร่าหญิงวัยแม่บ้านเสียชีวิตวันละ 9 ราย”

  • “มะเร็งปากมดลูกคร่าสาว 9 คนต่อวัน” หรือ 

  • “มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายคร่าชีวิตหญิงไทย”

มิหนำซ้ำ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เกี่ยวข้องยังออกมาให้สัมภาษณ์ เชิงตำหนิว่าสาเหตุที่เสียชีวิตกันมากมายก็เพราะผู้หญิงมัวแต่อายหมอไม่ยอมไปตรวจภายใน พร้อมทั้งรายงานสถิติว่าปี 2548 มีผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในโรงพยาบาลทั่วประเทศเพียง 4.5 แสนราย ทั้งที่รัฐตั้งเป้าไว้ที่ 7 แสนราย  การที่ฝ่ายสาธารณสุขออกมาใช้เทคนิค “ขู่ให้กลัว”  รวมทั้งสื่อต่างๆ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันนิยมใช้ภาษาที่ตอกย้ำความน่าสะพรึงกลัวของโรค  ยิ่งไปตอกย้ำความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกว่าไม่ต่างจากมะเร็งประเภทอื่นๆ ที่ป้องกันยาก ผู้ป่วยจะทุกข์ทรมาน เป็นแล้วตาย รักษาไม่หาย ผู้หญิงจึงรู้เพียงแต่ว่าทางการรณรงค์ให้ไปตรวจภายใน และหากเกิดป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว ก็เท่ากับว่าชีวิตนี้สิ้นหวัง

การปะทะกันระหว่างสงครามข้อมูลและการตลาดของวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 

ขณะที่ภาครัฐขยับตัวจริงจังเรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็เริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูกของบริษัทยาในสหรัฐอเมริกา ให้เห็นประปรายในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารสุขภาพในปี 2549  โดยมักเรียกสั้นๆ ว่าวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก  แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในวิชาชีพแพทย์และผู้ทำงานด้านสุขภาพเท่านั้น  

แต่หลังจากที่คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ขึ้นทะเบียนรับรองวัคซีนนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2550  ก็เกิดการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของวัคซีนนี้ ตลอดปี 2550 จนถึงปัจจุบัน (มีนาคม 2551) ก็ยังไม่ซาลง  โดยเฉพาะการนำบุคคลที่มีชื่อเสียง คือแหวนหรือปวริศา เพ็ญชาติมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในฐานะผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้รับวัคซีนนี้จากโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง รวมทั้งมีการเผยแพร่ทั้งทางหนังสือพิมพ์ และสัมภาษณ์ในรายการทอล์คโชว์อีกด้วย 


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333