10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
“เรตติ้งทีวี” ภารกิจของผู้ใหญ่เพื่อผู้ชมตัวน้อย

ในยุคที่รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความบันเทิงแบบผู้ใหญ่  น่าเป็นห่วงว่าผู้ชมตัวน้อยซึ่งใช้เวลาดูโทรทัศน์ประมาณวันละ 3-5 ชั่วโมง จะโดนห้อมล้อมด้วยสื่อที่เป็นอันตราย และถูกชักนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นเรื่อยๆจึงถึงเวลาที่เรตติ้งรายการโทรทัศน์จะก้าวเข้ามาเป็นตัวช่วยของพ่อแม่ผู้ปกครองในการปกป้องเด็กจาก “สาร” ด้อยคุณภาพ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตเพิ่มปริมาณของรายการสำหรับเด็กและปรับผังรายการออกอากาศในช่วงเวลาที่เหมาะสมกว่าเดิม

นับหนึ่งการจัดระเบียบรายการโทรทัศน์

“เรตติ้ง” (Rating) คือ การจัดหมวดหมู่ของเนื้อหารายการที่เผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์ว่า เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมในช่วงอายุใด ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกว่า 30 ประเทศทั่วโลก อาทิ อังกฤษ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ต่างก็ใช้เรตติ้งในการแบ่งประเภทรายการโทรทัศน์กันมานานแล้ว

แต่ผู้ชมโทรทัศน์ทั่วประเทศไทยเพิ่งจะรู้จักกับมันเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2549 หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ทุกช่องพร้อมใจกันให้ความร่วมมือกับกองงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) กรมประชาสัมพันธ์ ในการเริ่มต้นทดลองจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ ซึ่งมีการแบ่งประเภทของรายการโทรทัศน์ออกเป็น 7 ประเภทและกำหนดสัญลักษณ์ของรายการโทรทัศน์แต่ละประเภทไว้ ดังนี้

  1. รายการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-6 ปี ใช้สัญลักษณ์ “ก” และรูปหน้ายิ้ม

  2. รายการสำหรับเด็กอายุ 2-12 ปี ใช้สัญลักษณ์ “ด” และรูปจิ๊กซอว์

  3. รายการทั่วไปเหมาะสำหรับผู้ชมทุกวัย ใช้สัญลักษณ์ “ท” และรูปบ้าน

  4. รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำ ใช้สัญลักษณ์ “น” และเครื่องหมายถูกผิด

  5. รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมอายุน้อยกว่า 13 ปี ใช้สัญลักษณ์ “น 13” และเครื่องหมายถูกผิด

  6. รายการที่ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้ชมอายุน้อยกว่า 18 ปี ใช้สัญลักษณ์ “น 18” และเครื่องหมายถูกผิด

  7. รายการเฉพาะไม่เหมาะแก่เด็กและเยาวชน ใช้สัญลักษณ์ “ฉ” และรูปฟ้าผ่า

สำหรับช่วงทดลองจัดระเบียบรายการโทรทัศน์นั้น กรมประชาสัมพันธ์มอบหมายให้สถานีโทรทัศน์แต่ละช่องพิจารณาจัดเรตติ้งของแต่ละรายการกันเอง พร้อมกับเปิดโอกาสให้เครือข่ายครอบครัว เด็ก และเยาวชน เข้ามาทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบความเหมาะสมของการจัดเรตติ้งโดยสถานีโทรทัศน์ โดยการแสดงความคิดเห็นผ่านระบบเอสเอ็มเอสมายังหมายเลขโทรศัพท์ 024863333 หรือทางอินเตอร์เน็ตที่ www.me.or.th

หลังจากผ่านก้าวแรกของการทดลองจัดเรตติ้งสื่อโทรทัศน์มาประมาณครึ่งปี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เปิดเผยผลการการประเมินและรับฟังความคิดเห็นว่า การจัดเรตติ้งของแต่ละสถานียังมีความแตกต่างกัน กรมประชาสัมพันธ์จึงเร่งจัดทำคู่มือจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์กับกลุ่มผู้ชม เพื่อให้แต่ละสถานีใช้เป็นบรรทัดฐานในการจำแนกเนื้อหาและประเมินคุณภาพของรายการโทรทัศน์

ปฏิกิริยาหลากหลายกระแสจากสังคม

ต้นเดือนมิถุนายน 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างคู่มือการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ซึ่งประกอบด้วยใจความสำคัญเกี่ยวกับระบบประเมินคุณภาพเนื้อหา ระบบการจำแนกเนื้อหาตามช่วงอายุ และการกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการออกอากาศรายการแต่ละประเภท

หลังจากนั้นไม่เกิน 1 เดือน กลุ่มผู้ผลิตรายการ ผู้จัดละคร และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงโทรทัศน์ต่างตบเท้ากันออกมาแสดงความเห็นคัดค้านกับร่างคู่มือฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์ แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นการใช้เรตติ้งควบคู่กับการกำหนดเวลาออกออกอากาศ

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้จัดละครชื่อดัง เกรงว่าละครที่ฉายช่วงหลังสองทุ่มจะโดนย้ายไปอยู่ในช่วง 22.00-04.00 น. หากมีฉากตบตีหรือฆ่ากันตาย ขณะที่ประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีช่อง 3 กังวลถึงปัญหาการแทรกแซงสื่อที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ความคิดของกลุ่มคนที่ทำธุรกิจรายการโทรทัศน์ สวนทางกับความเห็นของผู้ชมโทรทัศน์โดยสิ้นเชิง เมื่อผลการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นของเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองต่อการจัดเรตติ้งและความรุนแรงในรายการโทรทัศน์ กรณีศึกษาประชาชนอายุ 3 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 2,486 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2550 โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุว่ามีประชาชนเห็นด้วยกับการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์มากถึงร้อยละ 88  โดยสัดส่วนของเด็กอายุ 3-12 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งดูทีวีในช่วง 18.01-20.00 น.  ขณะที่เด็กอายุ 13-18 ปี มากกว่าครึ่งหนึ่งเช่นกันที่ดูทีวีในช่วง 20.01-22.00 น. 


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333