10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
ไข้เลือดออกระบาดหนักจากภาวะโลกร้อน

ปี 2550 เป็นปีที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับภาวะการระบาดของไข้เลือดออกรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี  ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 60,625 ราย เสียชีวิต 83 ราย สาเหตุสำคัญที่ทำให้โรคไข้เลือดออกคร่าชีวิตผู้คนมากขึ้น คือ ภาวะโลกร้อนที่ทำให้วงจรชีวิตของยุงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดมากขึ้น  อย่างไรก็ตามมีข่าวที่น่ายินดีเมื่อมหาวิทยาลัยมหิดลประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกทุกสายพันธุ์ได้ในเข็มเดียว

ปี 2550 วิกฤตไข้เลือดออก

การระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วงต้นปี 2549 ทั้งๆ ที่ยังไม่ใช่ฤดูกาลการระบาดของโรค กลายเป็นการส่งสัญญานเตือนสังคมไทยให้เตรียมรับมือกับการมาเยือนของโรคไข้เลือดออกซึ่งเป็นโรคที่ประเทศไทยได้ชื่อว่ามีองค์ความรู้ “ก้าวหน้า” มากกว่าประเทศอื่น 

ทันทีที่ได้รับทราบผลการวิเคราะห์เชื้อโรคไข้เลือดออกว่าเป็นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างรุนแรงมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งวอร์รูมไข้เลือดออกเพื่อติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างใกล้ชิด และเร่งรัดการประสานงานของหน่วยงานท้องถิ่นให้ปฏิบัติการควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเร่งระดมรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายในระดับหมู่บ้านผ่านเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 7 แสนคน

กระนั้นก็ตาม สำนักระบาดวิทยารายงานว่าปี 2549 มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 46,829 ราย (คิดเป็นอัตราป่วย 74.78 ต่อประชากรแสนคน)  เสียชีวิต 59 ราย จำนวนผู้ป่วยดังกล่าวแม้ยังต่ำกว่าปี 2544 ซึ่งมีอัตราการป่วยสูงถึง 224.3 ต่อประชากรแสนคน แต่การแพร่ระบาดที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนก้าวข้ามสู่ปี 2550 ก็ทำให้กระทรวงสาธารณสุขยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

เพียงแค่ 3 เดือนแรกของปี 2550 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกที่พุ่งสูงขึ้นถึง 3,305 ราย เสียชีวิต 2 ราย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาเตือนคนไทยให้ระวังโรคไข้เลือดออก พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลของยุงลาย พาหะนำโรคไข้เลือดออก (ดูล้อมกรอบหน้า 55) และเร่งรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะไม่ใช่ฤดูกาลระบาดก็ตาม เพราะไข่ของยุงลายสามารถปรับตัวให้สามารถทนสภาพแห้งแล้งได้นานกว่า 6 เดือน อาจถึง 1 ปี

เมื่อย่างเข้าสู่ต้นเดือนพฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 6,070 ราย เสียชีวิต 4 ราย โดยภายในระยะเวลาแค่ 2 สัปดาห์พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 1,000 ราย ถึงแม้ว่าในระดับประเทศยังไม่ถือว่ามีการระบาดรุนแรง หากแต่ในบางจังหวัดกลับพบว่าสถานการณ์ของโรคอยู่ในสภาวะที่เรียกว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกแล้ว  ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดชักชวนและดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก รวมทั้งปรับการปฏิบัติงานของหน่วยเคลื่อนที่เร็วที่ทุกจังหวัดมีอยู่ประมาณ 10 ทีมให้พร้อมเข้าควบคุมโรคถึงบ้านและชุมชนของผู้ป่วยในรัศมี 50 เมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ยุงลายบินได้ทันทีแม้จะพบผู้ป่วยเพียงแค่ 1 ราย และเปิดสายด่วนให้คำแนะนำพร้อมรับมือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

ห้วงเวลาดังกล่าวจึงปรากฏความเคลื่อนไหวของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ใช้สารพัดกลยุทธ์เพื่อให้ความรู้และวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกแก่ชาวบ้านในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์  อาทิ จังหวัดสุราษฏร์ธานีจัดรณรงค์แฟนซีแรลลีมอเตอร์ไซด์ต้านภัยไข้เลือดออก จังหวัดสงขลาเร่งระดมสร้างกระแสรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งสถานีวิทยุ จัดงานแสดงละคร ประชาสัมพันธ์ในโรงเรียนและชุมชน  จังหวัดเชียงรายจัดพ่นหมอกควันสารเคมีกำจัดยุงลายตัวแก่และอบควันในบ้านทุกหลัง รวมทั้งจัดตั้งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านที่พบการระบาดของไข้เลือดออกสูงผิดปกติ ส่วนที่จังหวัดตากได้แจกมุ้งชุบสารเคมีให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงตามแนวชายแดนไทย-พม่ากว่า 20,000 หลัง รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้การชุบมุ้งด้วยสารเคมีใช้เอง โดยเมื่อยุงมาเกาะที่มุ้ง สารเคมีจะทำร้ายยุง แต่ไม่เป็นอันตรายต่อคน ขณะที่กรุงเทพมหานครก็ปล่อยขบวนรถคาราวานปราบยุงลาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลายโรงพยาบาลประสบปัญหาผู้ป่วยล้น โดยเฉพาะที่สถาบันบำราษนราดูร จังหวัดนนทบุรี มีผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กจำนวนมากเข้ามารับการรักษาโรคไข้เลือดออกจนถึงขั้นต้องขยายพื้นที่ไปยังอาคารอื่นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น  จนนายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยอมรับว่า “สถานการณ์ไข้เลือดออกในปีนี้รุนแรงมากกว่าปี 2549”

ที่สำคัญก็คือไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็ตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามด้วยโรคไข้เลือดออก จนกระทั่งองค์การอนามัยโลกต้องออกประกาศเตือนว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเผชิญกับการระบาดของไข้เลือดออกครั้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี”

เชื้อโรคไร้พรมแดน

กัมพูชา เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างสาหัสสากรรจ์มากที่สุด เพราะวิกฤตถึงขั้นต้องทำหนังสือขอความช่วยเหลือจากประเทศไทยอย่างเป็นทางการ  หลังจากพบว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 6 เดือนแรกของปี 2550 ก็มีจำนวนผู้ป่วยสูงถึง 30,000 ราย เสียชีวิตมากกว่า 200 ราย และมีแนวโน้มว่าจะวิกฤตมากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ดำเนินการช่วยเหลือ โดยส่งทีมแพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมมูลค่า 20 ล้านบาทไปยังกัมพูชา  ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงความร่วมมือในการเฝ้าระวังควบคุมโรคกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง

เพราะมีพรมแดนที่ต่อเนื่องกัน ทำให้รัฐบาลไทยต้องรีบออกประกาศมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้เลือดออกระหว่างพรมแดนไทย-กัมพูชา คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันควบคุมโรคบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ และมีการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว หรือ SRRT (Surveillance and Rapid Response Team) ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ทั้งนี้เมื่อเกิดการระบาด ทีมดังกล่าวจะข้าม


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333