10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
การแก้กฎหมายข่มขืนและกฎหมายใหม่คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรง : อีกหนึ่งความคืบหน้าของงานยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

ปี 2550 เป็นปีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของกฎหมายเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และมาตรา 277 ว่าด้วยเรื่องความผิดฐานข่มขืนที่ใช้กันมาร่วมครึ่งศตวรรษซึ่งเครือข่ายผู้หญิงพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกันมาเนิ่นนาน มาประสบผลสำเร็จเมื่อปลายปี 2550 ด้วยแรงผลักดันจากหลายฝ่ายนอกจากนี้ยังมีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อตอบสนองต่อความละเอียดอ่อนของปัญหาความรุนแรงในครอบครัวซึ่งมีความแตกต่างจากปัญหาอาชญากรรมทั่วไป 

กว่าจะมาถึงวันนี้ 

การแก้กฎหมายข่มขืน และการตรากฎหมายใหม่คุ้มครองเหยื่อที่ถูกระทำรุนแรงในครอบครัว ในปี 2550 นี้ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของสังคมไทยในการพัฒนาระบบการจัดการปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง  ซึ่งเป็นการทำงานประสานกันขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้หญิงและเด็ก เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมานานกว่า 20 ปี  ข้อเสนอหนึ่งของเครือข่ายเพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงตลอดมากว่าสองทศววรรษก็คือ การสังคายนากฎหมายและระเบียบต่างๆที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง โดยเฉพาะการแก้กฎหมายอาญาในมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเรื่องการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการตรากฎหมายใหม่เพื่อคุ้มครองผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในบ้าน  และกฎหมายคุ้มครองสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นต้น

ในท่ามกลางความพยายามตลอดมานั้น การแก้กฎหมายข่มขืนดูจะยากที่สุด เพราะมีคนคัดค้านกันมาก โดยเฉพาะในวงการยุติธรรมเอง ดังความเห็นของวิชา มหาคุณ อดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ที่ว่า “…ทางกฎหมายถ้าผู้ชายจดทะเบียนกับผู้หญิง ผู้ชายมีสิทธิข่มขืนได้ในทันที ไม่ว่าผู้หญิงจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่พอไปถามนักกฎหมายทั่วๆไป ถามคนทั่วๆ ไปจะพยายามเลี่ยงเรื่องตรงนี้ เขาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะแก้กฎหมายอันนี้ จริงๆแล้วต้องแก้ตรงนี้ก่อนจึงจะไปแก้อย่างอื่นได้” 

การแก้กฎหมายข่มขืน แม้ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังคงมีผู้คัดค้าน และผู้ตั้งคำถามต่อการใช้ภาษาในกฎหมาย  รวมถึงข้อห่วงใยที่ต้องการให้แก้ไขก็ยังมีอีกหลายจุด  ขณะที่กฎหมายใหม่เอี่ยมถอดด้าม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550  เกือบไม่ถูกตั้งคำถามเลย  อาจเป็นเพราะการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการจัดการปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กที่ผ่านมา  ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐในทางบวกมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว คือรัฐบาลเห็นพ้องต่อการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงครั้งแรกในพ.ศ. 2541 พอปีถัดมาก็ประกาศใช้นโยบายและมาตรการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงและเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในภาวะวิกฤต ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน และเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง

หลังรัฐประหารเกิดการขับเคลื่อนเพื่อแก้กฎหมายข่มขืน

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2549 ช่องโหว่ของกฎหมายข่มขืนที่ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองภรรยาที่ถูกสามีข่มขืน การข่มขืนระหว่างคนเพศเดียวกัน และการข่มขืนในรูปแบบที่นอกเหนือจากอวัยวะเพศชายสอดใส่ในอวัยวะเพศหญิงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ในงานสัมมนาวิชาการเรื่องการแก้ไขกฎหมายที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง จัดโดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยที่ประชุมมีข้อเสนอว่ากฎหมายอาญามาตรา 276 ควรแก้ไขจากที่เขียนว่า “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตน...” เป็น “ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น” เพื่อขยายความคุ้มครองให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงในสังคมซึ่งมีความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นหลายรูปแบบ

ข้อเสนอนี้ถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้อายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งตลอดทั้งปีที่ผ่านมาได้พิจารณาศึกษากฎหมายข่มขืนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงอีกหลายฉบับ

ต่อมา ผู้แทนองค์กรด้านผู้หญิงอีก 11 องค์กร และผู้แทนจากองค์กรแอคชั่นเอดส์อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM- United Nations Development Fund for Women) ได้เข้าเยี่ยมคารวะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2550 และยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 276 และ 277 โดยยืนยันข้อเท็จจริงว่า “(1) มีผู้หญิงที่ถูกสามีข่มขืนกระทำชำเราแต่มิได้รับความคุ้มครองจากกฎหมาย (2) บุคคลที่เป็นเหยื่อของการข่มขืนกระทำชำเราไม่ได้มีแต่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กชาย และผู้ชาย ทั้งที่แปลงเพศและไม่ได้แปลงเพศ และ (3) รูปแบบของการข่มขืนกระทำชำเรามิได้มีเพียงการใช้อวัยวะเพศชายกระทำต่ออวัยวะเพศหญิงเท่านั้น แต่ยังปรากฏการกระทำชำเราโดยการใช้อวัยวะและอุปกรณ์อื่นด้วย” จึงเท่ากับเป็นการตอกย้ำความเร่งด่วนของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้อีกทางหนึ่ง 

ไม่นานนักภาคประชาชนที่ติดตามความก้าวหน้าของกฎหมายนี้ ก็ได้เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันข้อเสนอของกลุ่มตน อาทิ เครือข่ายความหลากหลายทางเพศซึ่งมีสมาชิกเป็นกลุ่มและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิของคนรักเพศเดียวกันได้ออกมาให้ความเห็นว่า ควรขยายกฎหมายข่มขืนให้ครอบคลุมการละเมิดทางเพศอีก 4 รูปแบบ คือ การล่วงล้ำอวัยวะเพศหญิงเทียมในกรณีของสาวประเภทสองที่ผ่านการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว การข่มขืนเกย์และผู้หญิงโดยใช้องคชาตล่วงล้ำทางทวารหนัก การบังคับให้ชายหรือหญิงสำเร็จความใคร่ด้วยปากให้ และการข่มขืนโดยใช้อุปกรณ์ใดก็ตาม


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333