10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
ถึงเวลาต้องป้องกันและแก้ไขปัญหาทำแท้งเถื่อนให้ได้ผล

การบุกเข้าตรวจค้นและจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับการทำแท้งเถื่อนหรือการทำแท้งที่ผิดกฎหมายในคลินิกหรือสถานที่ต่างๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมาแล้วหลายระลอก และการจับกุมแทบทุกครั้งเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์  แต่ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น  -ใครบ้างที่ถูกดำเนินคดี ศาลรับคำฟ้องหรือไม่ กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างไร และใครถูกตัดสินพิพากษาอย่างไรบ้าง -ดูจะเป็นเรื่องราวที่ไม่มี “คุณค่าเชิงข่าว” ในตัวเองมากพอ เพราะไม่เคยปรากฎมีการเสนอข่าวผลของคดี และอาจไม่มีแม้กระทั่งคำถามว่าความสำเร็จของการกวาดล้างจับกุมได้นำพาสิ่งใดมาสู่สังคมไทยบ้าง ?

“ทำแท้งเถื่อนเกลื่อนเมือง” - จุดประเด็นด้วยข่าว ขานรับด้วยนโยบาย 

สังคมไทยรับรู้อยู่แล้วว่าการทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีการปราบปรามมาเป็นระยะ หากแต่ในปี 2550 ที่ผ่านมาได้เกิดปรากฏการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการใช้ “ข่าว” เป็นเครื่องมือในการนำเสนอปัญหาทำแท้งเถื่อนอย่างต่อเนื่องจนเกิดการขยายผลเชิงนโยบายและมาตรการของรัฐ 

เริ่มต้นจากข่าวหน้าหนึ่งของวันที่ 27 เมษายน 2550 “สลด สุสานทารก สยองกรุง 2ปีฆ่ารีดทิ้ง 30 ศพ”และ “สธ.ห่วงสถิติการทำแท้งสูง เตือนอันตรายมดลูกทะลุ” ที่เปิดประเด็นด้วยเรื่องราวของชาวบ้านริมฝั่งคลองบ้านม้าในเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ที่พบซากตัวอ่อนในครรภ์ลอยน้ำมาติดริมฝั่งคลองมากกว่า 30 ศพในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาติดตามด้วยข่าวในวันต่อมา “โวย ตร. ไม่สนใจสอบสวนคดีสุสานทารก” ทำให้มีข่าวตำรวจขยับตัวทำงานเรื่องนี้ว่า “นครบาลตื่น สืบหาแหล่งแท้งเถื่อน” และ “ตร.ตะลุยค้นเร่งหาคลินิกทำแท้งเถื่อน” ฉายภาพว่าข่าวมีส่วนกระตุ้นการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างเห็นได้ชัด

วันต่อๆมา การนำเสนอข่าวยิ่งทวีลักษณะของข่าวเชิงสืบสวนมากขึ้น โดยมีพาดหัวข่าวดังเช่น “แฉ รพ.ใหญ่จ่ายหัวคิวทำแท้ง” "สาวใจแตก! แฉชีวิตเฟะ ทำแท้ง 2 หน" และ "เร่งติดตามตัว 8 สาวหาข้อมูลทำแท้งสงสัยทิ้งศพทารกลงคลอง"   ซึ่งเป็นข่าวในช่วงวันที่ 1-5 พฤษภาคม 2550 ก่อนมาถึงข่าวเกี่ยวกับความร่วมมือของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2550  มีใจความตอนหนึ่งว่า “...กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังสาธารณสุขจังหวัด และสาธารณสุขอำเภอทั่วประเทศให้เร่งตรวจสอบแหล่งคลินิกที่มีพฤติกรรมรับทำแท้งในพื้นที่ แล้วแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุขทราบ เพื่อประสานข้อมูลให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดำเนินการตรวจค้นจับกุมครั้งใหญ่”

ภายหลังการประกาศแนวนโยบายที่ชัดเจนว่า  เจ้าหน้าที่ตำรวจจะร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการปูพรมตรวจค้นคลินิกต้องสงสัยว่ามีบริการทำแท้ง หลังจากนั้นก็มีข่าวเกี่ยวกับการบุกเข้าตรวจค้นและจับกุมคลินิกในจังหวัดต่างๆ และกรุงเทพมหานครถูกนำเสนออย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดปี 2550 โดยผู้ถูกจับกุมมีทั้งแพทย์และบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์แต่เปิดให้บริการทำแท้ง

50 ปีของการบังคับใช้กฎหมายห้ามทำแท้งกับการตายของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม

ประเทศไทยประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 หรือ 50 ปีมาแล้วมีมาตราที่เกี่ยวกับความผิดฐานทำแท้ง 5 มาตรา โดย 3 มาตราแรก (มาตรา 301-303) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับโทษของการทำแท้ง ไม่ว่าผู้หญิงที่ท้องแล้วทำแท้งด้วยตนเอง หรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้งให้  แต่หากการกระทำแท้งเป็นเหตุให้หญิงเป็นอันตราย หรือถึงแก่ชีวิตก็จะมีโทษหนักขึ้น  และถ้าใครทำแท้งโดยผู้หญิงไม่ยินยอม ก็ยิ่งได้รับโทษหนักขึ้นไปอีก โดยถ้าการทำแท้งนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย จะได้รับโทษสูงสุดคือ จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี  และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

สำหรับ มาตรา 304  เป็นเรื่องความพยายามจะทำแท้งแล้วทำไม่สำเร็จ ไม่ว่าหญิงจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ  ส่วนมาตรา 305  เป็นข้อยกเว้นว่า ถ้าการทำแท้งนั้นเป็นการกระทำของนายแพทย์ โดยผู้หญิงยินยอม บนความจำเป็น ”ต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น  หรือ หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญา  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276  มาตรา  277  มาตรา 282  มาตรา 283 หรือมาตรา 284 ผู้กระทำไม่มีความผิด”


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333