10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2551
มาบตาพุด…ทุกข์ท้น มลพิษท่วม

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดตกเป็นประเด็นร้อนทางหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง ด้วยปัญหามลภาวะจากอุตสาหกรรมที่หนักหนาสาหัสที่สุด ทั้งความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมในระดับที่ยากเกินเยียวยา และผลกระทบทางสุขภาพ ตามสถิติที่ปรากฏว่า ชาวระยองป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ กระทั่งมีการเสนอให้ประกาศเป็น “เขตควบคุมมลพิษ”  คงถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องทบทวนว่า คุ้มหรือไม่กับการที่ต้องแลกคุณภาพชีวิตของประชาชนและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เพียงเพื่อรายได้และตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจากโรงงานอุตสาหกรรม

จากโชติช่วงชัชวาลถึงมลพิษอุตสาหกรรม

การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและนำขึ้นมาใช้เชิงพาณิชย์เมื่อปี 2524 ไม่เพียงพาประเทศไทยเข้าสู่ความโชติช่วงชัชวาลตามคำกล่าวของ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) แต่ยังเป็นแรงผลักสำคัญที่เปลี่ยนให้พื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยบางส่วนกลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ “อีสเทิร์นซีบอร์ด” (Eastern Seaboard Development Program) ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)

เพราะเป็นด่านแรกที่ก๊าซธรรมชาติเดินทางขึ้นบก พื้นที่ชายฝั่งทะเลของตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง จึงถูกกำหนดให้เป็นเมืองศูนย์กลางรองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติทั้งหมด อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลาสติก โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน รวมถึงอุตสาหกรรมหนักที่ใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต ภายใต้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” ซึ่งเริ่มต้นการพัฒนาระยะแรกขึ้นในปี 2525ผ่านระยะสอง และกำลังเข้าสู่ระยะที่สาม พื้นที่มาบตาพุด 2 หมื่นไร่ในวันนี้ ไม่เหลือเค้าเดิมของชุมชนประมงพื้นบ้าน สวนผลไม้ สวนยางพารา และไร่มันสำปะหลังให้เห็นอีกต่อไปแล้ว

ชื่อของมาบตาพุดจึงเป็นที่รู้จักคู่กับอุตสาหกรรมทันสมัย ตัวเลขการลงทุนที่สวยงาม แต่ไม่ช้าไม่นานนัก ชื่อมาบตาพุดและพื้นที่อุตสาหกรรมใกล้เคียงก็เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญในทางอื่น เช่น เมื่อสารปรอทรั่วไหลจากท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซปตท. ในปี 2532 เมื่อชาวบ้านปลวกแดง อ.มาบตาพุดคัดค้านการก่อสร้างโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมบริษัทเจนโก้ในปี 2538 รวมถึงกรณีลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมของเจนโก้ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่เป็นข่าวดังจนผู้คนเริ่มหันมามองอย่างตั้งใจก็คือ กลิ่นเหม็นจากโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง ที่ทำให้ครูและนักเรียนป่วยจนต้องย้ายโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ในปี 2540 เป็นต้น ไม่รวมถึงกรณีอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล รถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ การปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำธรรมชาติ เพลิงไหม้โรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

มลพิษทางอากาศเข้าขั้น “โคม่า”

นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดขณะนี้ด้วยเรื่องมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะสารอันตราย 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือสารอินทรีย์ระเหยและก๊าซที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงงานและโรงไฟฟ้า คือซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นกลุ่มที่สอง

จากการเก็บตัวอย่างอากาศ ระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2548 กรมควบคุมมลพิษตรวจสอบพบสารอินทรีย์ระเหย (VOCs-Volatile Organic Compounds)มากกว่า 40 ชนิด โดยเป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิดที่น่าตกใจก็คือ ปริมาณสารก่อมะเร็งจำนวน 19 ชนิดที่พบในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดสูงเกินค่ามาตรฐานสิ่งแวดล้อมระดับเฝ้าระวังคุณภาพอากาศของสหรัฐอเมริกา เช่น อโครลีน (Acrolein) สูงกว่าระดับเฝ้าระวัง 693 เท่า ไตรคลอโรเอทิลีน (Trichloroethylene) สูงกว่าระดับเฝ้าระวัง 498 เท่า เอทิลีน ไดคลอไรด์ (Ethylene Dichloride) สูงกว่าระดับเฝ้าระวัง 256 เท่า คลอโรฟอร์ม (Chloroform)สูงกว่าระดับเฝ้าระวัง 238 เท่า ไวนิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride)สูงกว่าระดับเฝ้าระวัง 45 เท่า เบนซีน (Benzene) สูงกว่าระดับเฝ้าระวัง 31 เท่า เป็นต้น (รายละเอียดดังตารางที่ 1)และคนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าแต่ละปีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดใช้ไวนิลคลอไรด์รวมกันถึง 610,000 ตัน ใช้เบนซีนรวมกันมากกว่า 600,000 ตัน ใช้เอทิลีนไดคลอไรด์รวมกันมากกว่า 250,000 ตัน

ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์นั้น จากการประเมินศักยภาพการรองรับมลพิษทางอากาศด้วยข้อมูลอัตราการระบายจริงจากโรงงานต่างๆ ในมาบตาพุด ในบางช่วงเวลาพบว่า ก๊าซทั้งสองชนิดมีความเข้มข้นสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ มีโรงไฟฟ้า 5-6 แห่ง ที่เป็นตัวปล่อยมลพิษทางอากาศมากที่สุด โดยปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์มากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณก๊าซดังกล่าวที่ทุกโรงงานปล่อยรวมกัน ที่ร้ายที่สุดเห็นจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ของบีแอลซีพี ที่ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์สูงถึง 1,000 กรัมต่อวินาที ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการปล่อยทั้งหมดในพื้นที่มาบตาพุด


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333