10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2550
การบังคับใช้สิทธิผลิตยาที่มีสิทธิบัตร 3 ชนิด เพราะสิทธิที่คนไทยจะมีชีวิตอยู่ย่อมเหนือกว่า ผลประโยชน์ทางการค้า

‘การบังคับใช้สิทธิ’โดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร 3 ชนิดคือ ยาต้านไวรัสเอฟาวิเรนซ์ (Efavirenz) ยาละลายลิ่มเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ‘โคลพิโดเกรล’ (Clopidogrel) และยาต้านไวรัสสูตรผสม ‘โลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์’ (Lopinavir+Ritonavir) ครั้งแรกของประเทศไทยเมื่อปลายปี 2549 ต่อต้นปี 2550 ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนการต่อสู้ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ผ่านมา หรือมีค่าแค่ผลงานความสำเร็จของรัฐบาลไทย แต่ความสำคัญที่มากกว่านั้นคือ เป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ร่วมกันของประชาชนไทยทั้งหมด ในการ “ปักธง” ประกาศถึงสิทธิที่จะมีชีวิตและการเข้าถึงยาจำเป็นอื่นๆ อีกในระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต

เราสู้เพื่อสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่

จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในบ้านเรา ปัจจุบันประมาณการกันว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า 500,000 คน ซึ่งในระยะยาวจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสเพื่อการดำรงชีพปกติเฉกเช่นผู้อื่น แม้เราจะมียาต้านไวรัสที่กินร่วมกันแล้วสามารถช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปได้อย่างชัดเจน และทำให้สุขภาพดีมากขึ้น แต่เรื่องยาเอดส์ราคาแพงเกินเหตุ ก็เป็นเรื่องที่เสียดแทงใจคนทั่วโลกมาโดยตลอด เพราะบริษัทยาคำนึงถึงผลกำไรมากกว่ามนุษยธรรม จึงตั้งราคาไว้แพงลิบลิ่ว และสามารถยืนราคาไว้โดยผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาแทบไม่มีสิทธิต่อรอง เพราะบริษัทยามีสิทธิผูกขาดจากการครอบครองสิทธิบัตร

หลังรัฐบาลไทยประกาศนโยบายให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสเข้าถึงยาได้ทุกคน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นมา พร้อมจัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ  มีรายงานวิจัยที่วิเคราะห์ต้นทุนผลค่าใช้จ่ายยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีของรัฐ และเสนอให้รวมสิทธิประโยชน์การให้ยานี้ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า  เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านยาได้ลดลงมากจากการที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผลิตยาต้านไวรัสสูตรสามตัวที่มีราคาถูกลงทำให้ผู้ติดเชื้อสุขภาพดีขึ้นและกลับมาทำงานสร้างผลผลิตได้ และจากการที่รัฐตัดสินใจรวมสิทธิประโยชน์การให้ยาต้านเชื้อไวรัสในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ทำให้ค่ารักษาลดลงไปมากถึง 18 เท่า

แม้รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณงบประมาณด้านสาธารณสุขมากขึ้นกว่าเดิม คือในปี 2550 มีงบรวมสูง 170,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12ของงบประมาณทั้งประเทศ และมีงบประมาณเพื่อการรักษาผู้ป่วยเอดส์ถึงกว่า 3,800 ล้านบาทแต่รัฐก็ยังไม่สามารถจัดบริการให้ประชาชนเข้าถึงยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติและยาอื่นๆที่จำเป็นได้ทุกรายการ เนื่องจากยาหลายรายการมีราคาสูงมาก เพราะเป็นยาที่มีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว ไม่มีการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะยาที่มีสิทธิบัตรทั้งหลาย

นอกจากข้อจำกัดของงบประมาณรัฐแล้ว ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบในประเทศไทยด้วย กล่าวคือในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการฯ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ติดเชื้อสามารถเบิกค่ายาต้านไวรัสได้เต็มที่ ขณะที่ระบบประกันสังคมจะจ่ายค่ายาต้านไวรัสสูตรสำรองสำหรับผู้ติดเชื้อที่ดื้อยาจากสูตรพื้นฐานให้เพียง 5,000 บาทต่อรายต่อเดือนเท่านั้น และให้ผู้ประกันตนเป็นผู้รับผิดชอบส่วนเกิน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 เป็นต้นมาทำให้เป็นภาระต่อผู้ประกันตนอย่างยิ่ง

ยาเอดส์แพงทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากต้องตายโดยไม่สมควร เป็นเหตุให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์และด้านสาธารณสุขเคลื่อนไหวเรียกร้อง “สิทธิของการมีชีวิตอยู่” มานานกว่า 10 ปี โดยขอให้รัฐบาลใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing) หลายครั้ง ทั้งที่ประเทศไทยมี ‘เครื่องมือ’ ที่ช่วยลดราคายาแพงเพราะติดสิทธิบัตรได้หลายวิธี และวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (อ่านรายละเอียดในล้อมกรอบ) 

ที่ผ่านมา นักการเมืองที่มีอำนาจในกระทรวงสาธารณสุข นอกจากไม่เคยใช้สิทธินี้มาก่อนแล้ว ยังยินยอมแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิทธิบัตรในตัวผลิตภัณฑ์ยา ตั้งแต่ปี 2535 เป็นการแก้ไขกฎหมายตามการบีบบังคับของบรรษัทยาข้ามชาติที่กดดันผ่านประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนภาคบังคับตามข้อตกลงทางการค้าที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลกถึง 10 ปี แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของบรรษัทยาข้ามชาติที่มี “อำนาจเหนือรัฐ” อย่างสำคัญ 

ประสบการณ์การต่อสู้เพื่อลดราคายาเอดส์ที่แพงเพราะระบบผูกขาดสิทธิบัตร

ประชาสังคมด้านเอดส์ ได้ต่อสู้เรื่องยาเอดส์ราคาแพงมานานถึง 8 ปี  เริ่มจากการเรียกร้องให้มีการลดราคายาเอดส์อย่างเข้มแข็งในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 สมัยนายกร ทัพพะรังสี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยและองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข 16 องค์กร เกือบ 500 คนรวมพลังยกขบวนมาตั้งแคมพ์ “ชุมชนมาตรา 51 ดีดีไอพัฒนา” บริเวณเสาธงหน้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้สธ. ใช้ “มาตรการบังคับใช้สิทธิ” กับยาดีดีไอของบริษัทบริสทอลเมเยอร์สควิปเพราะการจดสิทธิบัตรยานี้ไม่มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับนำมาขายในไทยด้วยราคาสูงลิ่ว 

แต่นายกร กลับให้คำตอบแก่ผู้ชุมนุมว่าจะให้อภ.ผลิตยาดีดีไอรูปแบบยาผงแทนยาเม็ด ด้วยเกรงว่าบริษัทยาจะฟ้องร้อง วันรุ่งขึ้นเครือข่ายผู้ติดเชื้อจึงเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตอเมริกา เพื่อหาข้อมูลสนับสนุนโดยยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีคลินตัน เรียกร้องให้ชี้แจงว่าจะไม่ตอบโต้รัฐไทยหากใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิผลิตยาดีดีไอ สัปดาห์ต่อมาก็ได้รับคำตอบว่า สหรัฐอเมริกาไม่คัดค้านการบังคับใช้สิทธินี้ หากไทยเห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อแก้วิกฤตสาธารณสุข โดยให้ความมั่นใจว่าข้อเรียกร้องนี้สอดคล้องกับความตกลงทางการค้าที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญากล่าวได้ว่า ก่อนหน้านี้ 8 ปี ได้มีความพยายามจากหลากหลายฝ่ายที่สนับสนุนทั้งงานวิชาการ และการเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างประเทศ ชี้ให้ผู้มีอำนาจรัฐรู้ว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิคือสิทธิโดยชอบธรรม รัฐบาลไทยขณะนั้นก็ไม่ยอมใช้สิทธิ์นี้อยู่ดี ภายใต้ข้ออ้างอันน่าระอาคือกลัวบริษัทยาฟ้อง และยังอ้างเพิ่มอีกว่า บริษัทยาได้ลดราคามาจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ซึ่งการรับปากลดราคาของบริษัทยาไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะยืนในราคานี้ไปโดยตลอด

เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยเข้าพบนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้อำนาจทางการเมืองยับยั้งมิให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุมัติสิทธิบัตรยาคอมบิด (COMBID) ของบริษัทแกลกโซ สมิธ ไคลน์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสซีโดวูดีน (AZT) + ลามิวูดีน (3TC) แบบรวมเม็ดเดียว หากการยับยั้งครั้งนี้ไม่เป็นผลก็ขอให้สธ.ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อให้อภ.สามารถผลิตยาคอมบิดได้ต่อไปเพราะมีผู้ติดเชื้อที่ใช้ยาสามัญของอภ.เกือบ 5,000 คนอีกทั้งถูกกว่ายาต้นแบบถึง 5 เท่ามิเช่นนั้นจะเป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศที่จะเพิ่มมากขึ้นถึง 400 ล้านบาทต่อเดือนจากยาเพียงตัวเดียวเท่านั้น

กรณียาคอมบิดนี้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทยและมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาได้ต่อสู้กับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2540 โดยได้ยื่นคัดค้านการให้สิทธิบัตรแก่ยาดังกล่าวเพราะไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ด้วยยานี้ไม่ใช่ยาใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น แต่สุดท้ายคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นให้คณะอนุกรรมการสิทธิบัตรพิจารณาก็ตกไปแต่ด้วยการกดดันทางสังคมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กับผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ทำให้บริษัทละทิ้งขอรับสิทธิบัตรเป็นผลให้สูตรยาดังกล่าวตกแก่สาธารณชนก่อนที่จะมีการเรียกร้องตามมาให้บังคับใช้สิทธิบัตร


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333