10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2550
เด็กไทยกับภัยทางเพศ เรื่องใกล้ตัวที่ยังไร้กลไกคุ้มครอง

ตลอดปี 2549 ข่าวการละเมิดทางเพศมีให้สังคมไทยได้รับรู้อยู่เสมอแทบไม่ต่างจากปีก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงใยอย่างยิ่งก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้เสียหายในคดีล่วงละเมิดทางเพศในปีที่ผ่านมาเป็นเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นส่วนใหญ่  โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ใกล้ชิดที่เด็กรู้จักดี คือพ่อ พี่ชาย น้องชาย ญาติผู้ใหญ่ เพื่อนนักเรียน ครู รวมถึงนายจ้าง ขณะที่จำนวนเยาวชนที่กระทำความผิดละเมิดทางเพศก็สูงขึ้นอย่างน่าตกใจ สังคมไทยควรต้องตอบให้ได้ว่า เราจะช่วยกันสร้างความปลอดภัยทางเพศให้เด็กของเราอย่างไร และเราจะแก้ไขเยาวชนที่กระทำผิดทางเพศตั้งแต่อายุยังน้อยได้อย่างไร 

เด็กไทยถูกละเมิดทางเพศสูงถึง 14 คนต่อวัน

รายงานสถานการณ์เด็กไทยในช่วงพ.ศ. 2548-2549 โดยสถาบันรามจิตติ เปิดเผยว่า ในปี 2548 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกละเมิดทางเพศจำนวน 3,825 คน  และเพิ่มขึ้นเป็น 5,211 คนในปี 2549 หรือมีจำนวนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 10 คนต่อวัน เป็น 14 คนต่อวัน  นับเป็นอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 36  ตัวเลขนี้สอดคล้องกับสถิติของ “ศูนย์พึ่งได้” ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบความรุนแรง/การล่วงละเมิดร่างกายและเพศ ดำเนินงานโดยโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ พบว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ถึงเดือนกันยายน 2549 มีผู้มารับบริการจากศูนย์พึ่งได้มากถึง 14,382 คน เฉลี่ยวันละ 39 คน โดยประมาณครึ่งหนึ่งของผู้มารับบริการเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นเด็กผู้หญิงมากถึง 5,622 คน และเด็กผู้ชายอีก 1,542 คน 

ข้อมูลจากสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ยืนยันสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศต่อเด็กเช่นกัน คือตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2549 มีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนจำนวน 796 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีมากถึงร้อยละ 51 หรือ 412 คน  สรุปรวมได้ว่า ปี 2549 มีผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548และเด็กผู้หญิงอายุน้อยๆ กลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ถูกละเมิดทางเพศ

แล้วใครเป็นผู้กระทำ? ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ชี้ตรงกันว่า ผู้ลงมือทำร้ายทางเพศเป็นคนใกล้ชิดเด็กเอง ได้แก่ สมาชิกในครอบครัว หรือญาติ หรือเพื่อน  แต่อาชญากรรมนี้มีช่องโหว่ที่สำคัญ เพราะสถิติคดีอาชญากรรมในความผิดเกี่ยวกับเพศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้ว่า การกระทำต่อร่างกายและชีวิตเหล่านี้ มีผู้กระทำผิดจำนวนไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ดังพบว่าในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม 2549 มีคดีรับแจ้งความเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราและข่มขืน ฆ่ามากถึง 5,228 คดี แต่จับผู้กระทำผิดได้เพียง 2,170 รายเท่านั้น (ดูตาราง)

เยาวชนที่กระทำผิดทางเพศและถูกจับได้เฉลี่ย 10 คนต่อวัน

ในฝั่งของผู้ลงมือละเมิดทางเพศต่อเด็กก็มีข้อมูลที่น่าเป็นห่วงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2544 มีเยาวชนกระทำความผิดจำนวน 31,000 คน แต่ในปี 2549 ตัวเลขนี้เพิ่มเป็น 43,000 คน โดยเป็นการก่อคดีทางเพศมากถึง 3,636 คน ซึ่งเพิ่มเป็น 3 เท่าจากจำนวน 1,026 คนของปี 2544 และมีคดีเกี่ยวกับการครอบครองอาวุธและวัตถุระเบิดเพิ่มจาก 900 รายเป็น 3,000 รายด้วย

น่าสังเกตว่า จำนวนเยาวชนที่กระทำความผิดละเมิดทางเพศก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2544 อย่างน่าตกใจ (ดูแผนภูมิ)  รูปแบบของการละเมิดทางเพศมีทั้งการข่มขืนแบบรุมโทรม การข่มขืนที่ลงมือคนเดียว ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการกระทำโดยเพื่อนชายคนสนิท (date rape)  เฉลี่ยแล้วมีเยาวชนที่กระทำผิดทางเพศและถูกจับดำเนินคดีสูงจนถึงวันละ 10 คน หากรวมผู้กระทำผิดที่จับไม่ได้ซึ่งคงมีจำนวนมากกว่านี้มาก ตัวเลขคงสูงน่าตกใจยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ในการก่อเหตุจำนวนหลายคดีพบว่า  โทรศัพท์มือถือแบบมีกล้องถ่ายรูปถูกนำมาใช้บันทึกภาพเป็น “คลิปวิดีโอ” และมีอยู่บ่อยครั้งที่คลิปวิดีโอเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องมือให้ฝ่ายผู้กระทำผิดใช้บังคับเด็กหญิงให้ตกเป็นเหยื่อข่มขืนแบบต่อเนื่องด้วย

เมื่อเด็กข่มขืนเด็กและโทรศัพท์ติดกล้องกลายเป็นอาวุธ

หากลองไล่เรียงคดีอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กตั้งแต่ต้นปี 2549  พบข่าวน่าสะเทือนใจหลายกรณี  เริ่มจากข่าวครึกโครมทางหน้าหนังสือพิมพ์  ที่เด็กหญิงอายุ 14 และ 15 ปี จำนวน 2 คนถูกวัยรุ่นชายอายุระหว่าง 15-22 ปีใช้มีดจี้และนำตัวไปเรียงคิวข่มขืนที่บริเวณกำแพงวัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  เรื่องนี้กลายเป็นข่าวใหญ่เพราะจำนวนผู้ข่มขืนมีมากถึง 30 คน ตามข่าวมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 คน

ถัดมาอีกไม่นาน ก็ปรากฏเป็นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งกรณีของเด็กหญิงชาวสุพรรณบุรีอายุ 14 ปีที่เสียชีวิตลงหลังจากถูกกลุ่มวัยรุ่นชายที่รู้จักกันจำนวน 8 คนทำร้ายร่างกายและนำตัวไปเรียงคิวข่มขืน ตามมาด้วยข่าวนักเรียนหญิงมัธยมศึกษาปีที่ 5 ถูกเพื่อนนักเรียนชายห้องเดียวกันจำนวน 5 คนรุมข่มขืนและใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพเก็บเป็นคลิปวิดีโอไว้โดยผู้เป็นเหยื่อไม่รู้ตัว จากนั้นมีการนำคลิปวิดีโอไปเผยแพร่ทั้งในและนอกโรงเรียน และมีนักเรียนชายรุ่นพี่เข้ามาเจรจาขอหลับนอนกับเด็กหญิงผู้เสียหายโดยขู่ว่าถ้าไม่ยอมจะนำคลิปวิดีโอไปเผยแพร่ 

น่าสังเกตว่าถัดมาอีกไม่กี่เดือนก็ปรากฏข่าวการข่มขืนเด็กหญิงแล้วถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้เผยแพร่ หรือแบล็คเมล์ตามมาอีกหลายกรณีด้วยกัน อาทิเช่น นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถูกเพื่อนนักเรียนชายรุมข่มขืนและถ่ายคลิปวิดีโอนำไปเผยแพร่ตามร้านโทรศัพท์มือถือ เด็กหญิงอายุ 15 ปีถูกเพื่อนนักเรียนชายจำนวน 11 คนรุมข่มขืนและถ่ายคลิปวิดีโอมาใช้ขู่ปิดปากผู้เสียหาย ทำนองเดียวกับกรณีวัยรุ่นชายจำนวน 5 คนล่อลวงเด็กหญิงอายุ 14 ปีที่เป็นเพื่อนร่วมหมู่บ้านเดียวกันไปข่มขืนบนท้ายรถกระบะและถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ข่มขู่ไม่ให้เอาเรื่องไปบอกผู้อื่น


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333