เรื่องพิเศษประจำฉบับ 2565

ครอบครัวไทยในวิกฤตโควิด-19

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่โควิด-19 ฉุดคนทุกหัวระแหงเข้าสู่โลกใบใหม่ ที่ต้องเผชิญกับวงเวียนของภาวะวิกฤต สู่การคลี่คลาย และกลับมาวิกฤตอีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

แทบกล่าวได้เลยว่าไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ล้วนไม่รอดพ้นจากผลกระทบที่เข้ามาในหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายมิติ และทำให้ทั้งโลกตระหนักอย่างแน่ชัดว่า จุลชีวัน (microorganism) นี้เองที่สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับพลิกผัน (disruption) อย่างแท้จริง และแม้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลายที่เคยได้ชื่อว่า “เปลี่ยนโลก” ก็ไม่อาจเทียบได้กับการระบาดของเชื้อโควิด-19 นี้ 

การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่หลายคนอาจไม่ทันได้รู้สึก คือการเปลี่ยนแปลงภายใน “บ้านและครอบครัว” ที่ได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จะว่าไปแล้วก็นับตั้งแต่วินาทีแรกที่คนรับรู้ว่าเชื้อโควิด-19 นี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และมีอันตรายถึงตาย เพราะ ณ ขณะนั้นทุกคนต่างคิดถึงความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัว 

ทันทีที่มีการประกาศจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทุกคนต่างคิดที่จะกลับไปบ้านเพื่ออยู่ใกล้ ๆ กับครอบครัวของตนเอง ไม่ว่าบ้านนั้นจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม

ตลอดระยะเวลา 2 ปีของการผจญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ หลายคนยอมรับว่าไม่เคยได้ใช้เวลาอยู่กับบ้านนาน ๆ อย่างนี้มาก่อน สังคมไทยโดยเฉพาะสังคมในเมืองได้สรรค์สร้างกิจกรรมต่าง ๆ มากมายให้อยู่นอกเขตบ้าน และห่างจากครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ซึ่งต้องบวกเวลาของการอยู่บนท้องถนนเพื่อเดินทางไปทำงานและกลับบ้าน การรับประทานอาหาร การสังสรรค์บันเทิง การไปเรียนหนังสือทั้งตามหลักสูตรปกติและการเรียนเสริม การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การนั่งพักผ่อนหย่อนใจระยะสั้น ๆ ก็ยังออกไปหาสถานที่นอกบ้านอย่างเช่นร้านกาแฟ เป็นต้น

การระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อความเป็นไปในมิติครอบครัวที่มีความหลากหลายอย่างน่าจับตามอง

เรื่องพิเศษประจำฉบับ 2564 นี้ ได้นำเสนอการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายอันเนื่องมาจากการระบาดของโรค  โควิด-19 ที่เกิดแก่สมาชิกของครอบครัวไทยในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่การเกิด การเลี้ยงดูลูก การทำมาหากิน ประเพณีและวัฒนธรรมครอบครัว เพื่อชี้ให้เห็นถึงประสบการณ์ที่สมาชิกของครอบครัวไทยได้รับจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และความพยายามของสมาชิกในครอบครัว ชุมชน สังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น


เรื่องพิเศษประจำฉบับ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333