10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2548
ขยะอันตราย ภัยร้ายที่มองไม่เห็น

ปัจจุบันสังคมผลิตขยะพิษชนิดต่างๆออกมามากมาย  ไม่ว่าจะเป็นขยะอันตรายจากสารเคมีที่มีพิษ  ขยะ ‘อิเล็กทรอนิกส์’   หรือขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาล  ขยะเหล่านี้ย่อยสลายได้ยากมาก และหากกำจัดไม่ถูกวิธีก็จะสร้างปัญหาต่อสุขภาพของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมในที่สุด 

ภาพของปริมาณขยะที่กองล้นเมืองกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศ  คงไม่ต้องกังวลมากนักหากขยะเหล่านี้สามารถย่อยสลายได้ทั้งหมด โดยไม่สร้างปัญหาลูกโซ่ตามมา   แต่ในความเป็นจริงนอกจากมีขยะอันตรายและมลพิษที่ปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม  ของเสียจากภาคเกษตรกรรมไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช  ของเสียจากสถานประกอบการและบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ ถ่านไฟฉาย  แบตเตอรี่เก่า น้ำมันหล่อลื่นและยางรถยนต์ ยังมีขยะจากสถานพยาบาลที่เปื้อนเลือด หรือของเหลวอื่นจากผู้ป่วยปะปนอยู่  ถ้ากำจัดด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม ‘ขยะติดเชื้อ’ เหล่านี้จะสร้างปัญหาต่อสุขภาพของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

เช่นเดียวกับเครื่องมือเครื่องใช้ทันสมัยอย่างคอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ  ที่หมดอายุการใช้งานและกลายสภาพเป็น  ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’  ซึ่งนับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นไล่ตามการพัฒนาอุตสาหกรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างกระชั้นชิด แต่กลับหนีห่างกระบวนการจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมออกไปทุกที ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อและขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ และควรเร่งสร้างความร่วมมือทุกรูปแบบในการกำจัดของเสียอันตรายให้ถูกหลัก  ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับรุนแรงส่งกระทบต่อสุขภาพคนไทยในอนาคต

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษทำให้ทราบว่า ในปี พ.ศ.2546  ขยะอันตรายทั่วประเทศไทยมีปริมาณสูงถึง 1 ล้าน 8 แสนตัน  โดยแยกเป็นของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม  1 ล้าน 4 แสนตัน  เป็นของเสียอันตรายจากชุมชน 4 แสนตัน  รวมขยะมูลฝอยติดเชื้ออีก  22,500 ตัน

พูดง่ายๆ ก็คือ คนไทยช่วยกันผลิตขยะอันตรายประมาณวันละ 5 พันตันพฤติกรรมทิ้งขยะโดยไม่แยกประเภทของคนส่วนใหญ่ทำให้ขยะอันตรายปะปนกับขยะทั่วไป เมื่อกองรวมกันจะกลายเป็นภูเขาขยะที่มีทั้งเชื้อโรคและสารเคมีอันตรายซ่อนอยู่ การจัดการและกำจัดที่ไม่ถูกต้องเปิดโอกาสให้มันซึมลงดิน ไหลลงแหล่งน้ำปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333