10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2548
คลื่นมหาประลัย “สึนามิ” ธรณีพิบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดของโลก

ไม่มีใครคาดล่วงหน้าว่า แผ่นดินไหวใต้ทะเลใกล้เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่มีระดับความรุนแรงถึง 9.0 ริกเตอร์ในเช้าวันนั้นจะนำมาซึ่งเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ เพราะคลื่นยักษ์ที่ก่อตัวขึ้นในเวลาต่อมาได้บุกถล่มชายฝั่ง 12 ประเทศซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับมหาสมุทรอินเดีย จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่าสามแสนคน

ความรื่นเริงและงานเลี้ยงที่เตรียมไว้สำหรับการเริ่มต้นปี 2548 ของคนไทยทั้งประเทศถูกระงับทันที ในตอนสายของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม 2547 เมื่อคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเล จนถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์และความทรงจำของหลายคนว่า เป็นการส่งท้ายปลายปีที่เต็มไปด้วยน้ำตาและบรรยากาศของความโศกเศร้าอย่างยากจะลืมเลือน

ธรณีพิบัติร้ายแรงนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเมื่อเวลา 07.58 น. ตามเวลาในประเทศไทย ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ลึกลงไปใต้มหาสมุทรอินเดียบริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ใกล้เมืองบันดาอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียโดยสำนักสำรวจทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาตรวจวัดความรุนแรงได้ถึง 9.0 ริกเตอร์  เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นอันดับ 4 ของโลก และรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี

ไม่มีใครคาดคิดว่าการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกแผ่นหนึ่งมุดตัวจมลงใต้อีกแผ่นหนึ่ง ทำให้แนวเลื่อนที่แตกร้าวเป็นระยะมากกว่า 1,000 กิโลเมตรในใต้มหาสมุทรอันดามัน จะเป็นจุดกำเนิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงต่อประเทศไทยน้ำทะเลถูกดูดเข้าไปในรอยแยกอย่างรวดเร็วก่อนที่แรงอัดใต้เปลือกโลกจะดันมวลน้ำกลับขึ้นมา เกิดเป็นคลื่นระลอกใหญ่ที่มีความยาวคลื่น 80-200 กิโลเมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 700 - 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อเข้าสู่ระดับน้ำตื้นใกล้ชายฝั่งแม้ความเร็วของมันจะลดลง แต่ยังมีพลังมากพอที่จะยกน้ำทะเลสูงขึ้น กลายเป็นคลื่นยักษ์ที่สูงมากกว่า 10 เมตรเข้าปะทะพื้นที่ชายหาดและนี่คือ ภัยพิบัติจากอภิมหาคลื่นครั้งที่ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์โลก


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333