10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ 2549
จะปล่อยให้รายการโทรทัศน์ กำหนดชะตาเด็กไทยไปถึงไหน?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์เป็นช่องทางการสื่อสารชั้นเยี่ยม เพียงแค่เสียบปลั๊กและกดปุ่มให้มันเริ่มต้นทำงาน ภาพและเสียงของเรื่องราวต่างๆ จากทุกมุมโลกก็เดินทางมาถึงผู้ชมที่นั่งอยู่หน้าจออย่างง่ายดาย แต่ประโยชน์มหาศาลของโทรทัศน์จะแปรเปลี่ยนเป็นพิษภัยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ “สาร” ที่ผู้ผลิตรายการส่งมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ชมตัวน้อยซึ่งยังอ่อนด้อยต่อการใช้วิจารณญาณตัดสินว่า สิ่งที่อยู่ในโทรทัศน์ควรแก่การลอกเลียนปฏิบัติหรือไม่ 

ด้วยเหตุที่รายการโทรทัศน์มีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของประชาชน เมื่อสังคมก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยนิยมเสพข้อมูลผ่านทางโทรทัศน์ การรับข้อมูลข่าวสารจากจอแก้วแทรกซึมไปในทุกพื้นที่ “สาร” ซึ่งเปี่ยมด้วยสาระและคุณภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมันคืออาหารคุณค่าสูงที่จะช่วยหล่อเลี้ยงสมอง เพิ่มพูนปัญญา และพัฒนาจิตใจของผู้คนในสังคม 

ในทางกลับกันหาก “สาร” นั้นไม่สร้างสรรค์และด้อยคุณภาพก็จะกลาย “สารพิษ” ที่มอมเมาให้หลงผิดไปในทางเสื่อมและบ่มเพาะความอ่อนแอให้แก่สังคม โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เกือบทุกหลังคาบ้านมีโทรทัศน์อย่างต่ำบ้านละหนึ่งเครื่อง ครัวเรือนไทยที่มีโทรทัศน์สูงถึงร้อยละ 95.5 (ดูภาพ)  โทรทัศน์ทุกวันนี้จึงรุกคืบเข้ามามีบทบาทต่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าผู้ใหญ่ยังเพิกเฉย ปล่อยให้ “สารพิษ” โลดแล่นในจอสี่เหลี่ยมต่อไป คงคาดเดาได้ไม่ยากว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตของชาติ

“เลี้ยงลูกด้วยโทรทัศน์” กระแสที่ยังแรงดีไม่มีตก

ในปี 2546 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันดำเนินการสำรวจภาคสนามในประเด็นเรื่องผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กและเยาวชน จำนวน 7 เรื่อง  พบผลโดยทั่วไปว่าเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาว่าง "ดูทีวี" มากที่สุดการนั่งชมโทรทัศน์เป็นกิจกรรมในครอบครัวที่ได้รับความนิยมสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 98 โดยระหว่างวันจันทร์ถึงวันศุกร์เด็กใช้เวลาดูโทรทัศน์เฉลี่ย 3.49 ชั่วโมงต่อวัน และเพิ่มขึ้นเป็น 5.51 ชั่วโมงต่อวันในวันเสาร์-อาทิตย์ ทั้งนี้ช่วงเวลาที่เด็กชอบนั่งอยู่หน้าโทรทัศน์มากที่สุด คือ 4 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม รองลงมาคือ 2 ทุ่มถึง 4 ทุ่มจึงไม่ผิดนักหากจะพูดว่า ระหว่าง 16.00-22.00 น. เป็นเวลาโทรทัศน์สำหรับครอบครัวที่สมาชิกทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันมากที่สุด

หากหันมาพิจารณาสาระของรายการโทรทัศน์  โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคมชี้ว่า  จากการวิเคราะห์รายการละครของสถานีฟรีทีวีทั้ง 5 ช่อง ในเดือนสิงหาคม 2548 ระหว่างช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุดคือ 16.00-22.00 น. พบว่ามีการนำเสนอเนื้อหาด้านเพศ ความรุนแรง และการดูถูกคนบางกลุ่มแทรกอยู่ทุกเรื่อง ช่อง 7 และช่อง 3 เป็นช่องที่มีรายการละครท่วมจอคือ ออกอากาศในช่วงเวลาดังกล่าวมากถึง 1,480 และ 1,470 นาทีต่อสัปดาห์  โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่ในเรื่องชิงรักหักสวาทที่ร้ายกว่านั้นคือ ละครก่อนข่าวภาคค่ำ (16.00-20.00 น.) มีปริมาณความรุนแรงมากกว่าละครช่วงดึก (20.00-22.00 น.) เสียอีก

แต่จำนวนรายการโทรทัศน์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในปี 2546 ลดลงร้อยละ 4.75 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2536  ทั้งนี้ยังสำรวจพบว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2546 รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กมีเวลาออกอากาศเพียง 45 ชั่วโมง 22 นาทีต่อสัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 4.94 ของเวลาออกอากาศทั้งหมดเกือบ 1,000 ชั่วโมง

จึงน่าเป็นห่วงว่า เด็กที่ถูกปล่อยให้ดูโทรทัศน์เพียงลำพังจะเรียนรู้พฤติกรรมก้าวร้าวจากโทรทัศน์ คุ้นชินกับความรุนแรงจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ ความอ่อนไหวในอารมณ์ลดลง และบางครั้งความรุนแรงที่ปรากฏในโทรทัศน์ก็สร้างความหวาดกลัวให้ตกค้างอยู่ในใจเด็กได้นานนับสัปดาห์


10
สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ

สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ / ปี

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333