บทความสั้น
โควิด-19 วิกฤตชีวิตคนไทย...ที่ยังไม่จบ
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | กุมภาพันธ์ 2566

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว แต่การระบาดที่กินเวลานานกว่า 3 ปี ยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และชีวิตการทำงานของประชาชน การทำมาหากินที่เปลี่ยนไปส่งผลอย่างไร? สุขภาพคนไทยจะมาเล่าให้ฟัง

แรงงานไทยจำนวนมากในภาคอุตกรรม ภาคบริการ ภาคการค้าปลีก และการขนส่ง/เก็บสินค้าถูก “เลิกจ้าง” แรงงานจึงย้ายถิ่นกลับไปทำงานด้านการเกษตร ทำให้แรงงานได้รับผลกระทบ เพราะนอกจากจะได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าการทำงานในภาคอื่นๆแล้ว แรงงานยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสภาพดินฟ้าอากาศด้วย

จากรายงาน Social Impact Assessment of COVID-19 in Thailand ของสหประชาชาติประจำประเทศไทย พบว่า รายได้ครัวเรือนไทยลดลงถึง 11% และความยากจนในพื้นที่เขตเมืองเพิ่มขึ้น 4-6% โดยเฉพาะแรงงานภาคเอกชนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำหรือเป็นพนักงานประจำ ซึ่งมีความยากจนสูงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19

ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของโควิด-19 ยังทิ้งปัญหา “หนี้สิน” ที่เป็นผลพวงจากการตกงานและการลดลงของรายได้ โดยหนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ที่ 14.13 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่สูงมากถึง 90.5 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 18 ปี สอดคล้องกับรายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า เงินออมกลับมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

ปัญหาทางการเงินยังเป็น “ชนวน” นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต จากรายงานสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อความเป็นอยู่ของครอบครัวไทย โดยสวนดุสิตโพลพบว่า 44.3% เครียดจากรายได้ที่ลดลงและไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวก็เลวร้ายลง ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาดระหว่างเดือนตุลาคม 2563-พฤษภาคม 2564 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวถึง 1,492 ราย ซึ่งพุ่งขึ้นสูงจาก 91 รายที่รายงานในช่วงเดือนตุลาคม 2562-กุมภาพันธ์ 2563

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงานไทยไม่ได้มีแค่ตกงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องต่อครอบครัวไทยจากปัญหาหนี้สิน เงินออมที่ลดลง ปัญหาสุขภาพจิตและความรุนแรงในครอบครัว ในช่วงที่ผ่านมานั้นมีมาตราเยียวยาและช่วยเหลือแรงงานไทยอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลและเอกชนช่วยเหลือแรงงานไทยอย่างไร อ่านต่อเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/Special2565.pdf (หน้า 112-114)


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333