บทความสั้น
ความ “สูญเสีย” ของนักเรียนไทย จากการเรียนออนไลน์
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | กุมภาพันธ์ 2566

โรคโควิด-19 ไม่เพียงเป็นภัยต่อสุขภาพของคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยต่อการศึกษาของไทยที่ก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาลต่อนักเรียนไทย การเรียนออนไลน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคทำให้นักเรียนไทย “ทุก” ระดับชั้นตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมหาวิทยาลัยล้วนประสบปัญหา

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (การปรับตัวและการเข้าถึงดิจิทัล) ในปี พ.ศ. 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีจำนวนครัวเรือนที่มีลูกหลานเรียนออนไลน์ถึง 58.3 % ที่เจอปัญหา โดย 5 อันดับแรกของปัญหาคือ ไม่ค่อยเข้าใจในวิชาที่เรียน ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ไม่มีสมาธิ สัญญาณอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ที่ไม่ทันสมัย โดยมีสัดส่วนดังกราฟด้านล่าง

จากปัญหาที่กล่าวไปข้างต้น นักเรียนไทยจะเกิดการสูญเสียทั้งในแง่ของการเรียนรู้ (learning loss) และในแง่รายได้ในระยะยาว (earning loss) จากการศึกษาของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ในปีพ.ศ. 2564

ความสูญเสียในแง่ของการเรียนรู้ หรือการถดถอยทางการเรียนรู้ (learning loss) นักเรียนที่ได้เรียนออนไลน์สูญเสีย “โอกาส” ในการพัฒนาทักษะทางปัญญา ทางสังคม ทางกาย และทางอารมณ์ (Cooper et al. 1996). จากมุมมองวัฏจักรชีวิต (life-cycle perspective) ทักษะที่เด็กเรียนรู้ตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นพื้นฐานที่จะใช้ต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นในอนาคต เมื่อนักเรียนพลาดโอกาสที่จะเรียนรู้ทักษะข้างต้นในตั้งแต่ยังเด็ก พวกเขาจะมีความเสี่ยงที่จะเรียนรู้ทักษะทั้งหมดตลอดชีวิตได้น้อยลง (Gibbs et al. 2019)

ในขณะที่มีนักเรียนที่ “ไม่มี” แม้แต่โอกาสที่จะได้เรียน การระบาดของโควิด-19 นำไปสู่การหดตัวทางเศรษฐกิจ (economic contraction) ทำให้เกิดการว่างงานที่มากขึ้นและรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้คนจำนวนมากกลายเป็นคนยากจน (Martinez, Sebastian, and Bulan 2020)

จากการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปีพ.ศ. 2562 และ 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่านักเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมปลาย “หลุด” ออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะในครอบครัวที่ยากจน ที่มีร้อยละของนักเรียนวัยต่างๆ ที่ “เคยเรียนหนังสือแต่ปัจจุบันไม่ได้เรียนแล้ว” ซึ่งจะยิ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ดังกราฟข้างต้น

นอกจากความสูญเสียในแง่ของการเรียนรู้ที่กล่าวไปข้างต้น นักเรียนยังสูญเสียรายได้ในระยะยาว (earning loss) อีกด้วย เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารายได้ของบุคคลจะเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการศึกษามากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วทุกปีการศึกษาที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มรายได้ต่อของบุคคล 9.7 % (Montenegro and Patrinos 2014)

ปัญหาการเรียนออนไลน์ไม่ได้ส่งผลเสียในแง่ของการศึกษาเท่านั้น ความสูญเสียในแง่ของการเรียนรู้ที่ส่งผลให้นักเรียนเรียนรู้ได้น้อยลงจะลดประสิทธิภาพการทำงานในอนาคตและส่งผลต่อรายได้ตลอดชีวิตของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ จึงอาจกล่าวได้ว่า การเรียนออนไลน์จะนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสถิติเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์เพิ่มเติม สามารถอ่านต่อได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/indicators.php?id=216&y=2565&bm=

สำหรับผู้ที่สนใจบทวิเคราะห์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ สามารถ download ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/file_book/Special2565.pdf (หน้า 105-109)


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333