บทความสั้น
เหรียญสองด้าน “ความเหลื่อมล้ำ” ของการเรียนออนไลน์
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | มกราคม 2566

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) มีมติให้วันที่ 24 มกราคมของทุกปีเป็นวันการศึกษาสากล (International Day of Education) เพื่อให้เห็นความสำคัญของการศึกษาที่เป็นสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนต้องได้รับอย่างเสมอภาค แต่การเรียน online ตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 เป็นต้นมา กลับทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำของการศึกษาไทยมากขึ้น ในขณะที่มีนักเรียน “บาง” กลุ่มได้ประโยชน์จากการเรียนออนไลน์ กลับมีนักเรียนอีก “หลาย” กลุ่มที่เสียประโยชน์เพราะการเรียนออนไลน์

แม้จะมีนักเรียนบางคนที่ได้โอกาสในการเรียนรู้ที่มากขึ้น แต่กลับมีนักเรียนหลายกลุ่มที่เสียโอกาสในการเรียนไป เช่น นักเรียนที่ไม่ได้เรียนเพราะไม่มีอุปกรณ์ นักเรียนที่เรียนไม่ต่อเนื่องเพราะมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอต้องผลัดเปลี่ยนกันเรียนในครอบครัว นักเรียนที่เรียนไม่รู้เรื่อง และ/หรือเรียนตามเพื่อนไม่ทันเพราะไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี โดยเฉพาะนักเรียนในครอบครัวยากจน เพราะเงินที่ผู้ปกครองหาได้มีไว้สำหรับกินและอยู่เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะเจียดให้กับค่าอุปกรณ์และค่าอินเทอร์เน็ต

ในขณะที่ผู้ปกครองบางคนมีความสุขที่ได้ใช้เวลากับนักเรียนมากขึ้นจากการเรียนออนไลน์ ที่บ้าน มีผู้ปกครองอีกหลายคนกลับเครียดจากภาระที่มากขึ้น ในขณะที่ยังต้องทำงานหารายได้ไปด้วย ผู้ปกครองหลายคนต้องติดตามลูกผ่านไลน์กลุ่มห้องเรียน โทรศัพท์บอกลูกว่ามีการบ้านอะไร กลับจากที่ทำงานก็สอนการบ้านลูกต่อ และมีผู้ปกครองอีกหลายคนที่มีปัญหาการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอาที่ไม่มีความรู้และทักษะที่จะสอนเด็กได้

ถึงจะมีนักเรียนบางคน โดยเฉพาะนักเรียนที่อยู่ในเมือง ไม่ต้องเสีย “เวลา” ฝ่ารถติดเดินทางไปโรงเรียน แต่มีนักเรียนหลายคนที่เสีย “โอกาส” ที่จะเรียนไปโดยสิ้นเชิง จากข้อมูลของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อปีการศึกษา 2564 ภาคเรียนที่ 1 พบว่า มีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษเสี่ยงที่จะ “หลุด” ออกจากระบบการศึกษารวมประมาณ 1.9 ล้านคนจากนักเรียนการศึกษาภาคบังคับทั้งหมด  9 ล้านคน
    
ความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียน 1.9 ล้านคนดังกล่าว เป็นความเสี่ยงในมิติด้านโอกาสและมิติด้านคุณภาพการเรียนรู้ มิติด้านโอกาส หมายถึง การที่นักเรียน “ชะลอ” การกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดยเฉพาะนักเรียนที่จบ ม.3 แต่ไม่ได้กลับมาเรียนม.ปลาย หรือ ปวช. นักเรียนที่อยู่ในช่วงรอยต่อที่จะต้องย้ายโรงเรียน นักเรียนก็จะชะลอออกไป ส่วนมิติคุณภาพการเรียนรู้ คือ การที่นักเรียนเรียนออนไลน์ที่บ้านแต่มีอุปกรณ์ไม่เท่ากัน นักเรียนกลุ่มดังกล่าวจะเกิดการสูญเสียการเรียนรู้ (learning loss) อย่างมาก และต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นๆในการฟื้นตัว

จากปัจจัยข้างต้น ผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างชัดเจน มีนักเรียนบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักเรียนในครอบครัวคนชั้นกลางได้ประโยชน์จากการเรียนออนไลน์หรือไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่นักเรียนจากครอบครัวที่อยู่ใต้เส้นความยากจน ส่วนใหญ่อยู่ในครัวเรือนแหว่งกลาง นักเรียนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่แยกทางกัน หรือไปมีครอบครัวใหม่ นักเรียนอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาสูงสุดเพียง ป.4-6 ซึ่งอาจไม่ได้ใส่ใจกับการศึกษาของลูกหลานด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่มีอาหารกิน เจ็บป่วย และไม่มีความรู้ที่จะสอนหรือเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียนได้ 

ความเหลื่อมล้ำ “มากขึ้น” ที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ online เป็นโจทย์สำคัญของการศึกษาไทย เพราะหากกลุ่มนักเรียนข้างต้นหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างถาวร อาจทำให้กลายเป็นคนด้อยโอกาสและมีความเปราะบางในระยะยาวได้ 

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียน online สามารถ download ได้ที่  https://www.thaihealthreport.com/file_book/Special2565.pdf (หน้า 105-109)

สำหรับผู้ที่สนใขข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของไทย สามารถ download ได้ที่ 
https://www.thaihealthreport.com/file_book/innnSp.pdf

สำหรับผู้ที่สนใจสถิติและสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับการศึกษา สามารถติดตามได้ที่หนังสือสุขภาพคนไทย 2566 ที่จะออกเดือน เม.ย. 2566  โดยติดต่อขอรับหนังสือได้ที่  thaihealthipsr@gmail.com หรือติดตามเพื่อ Download ฉบับ E-Book ได้ที่ https://www.thaihealthreport.com/th/index.php


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333