บทความสั้น
โควิด-19 กับพฤติกรรมสุขภาพ (ตอนที่ 1)
Home / บทความสั้น

มนสิการ กาญจนะจิตรา (คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย)
ตัวชี้วัดสุขภาพ | ธันวาคม 2564

โควิด-19 มีแนวโน้มทำให้คนไทยมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพลดลง และ ในขณะเดียวกันพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพก็มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกัน

การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาวและยังช่วยลดโอกาสการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคนไทยในหลากหลายมิติ รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพด้วย

ในด้านพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักคือผู้มีรายได้น้อย จากการสำรวจผู้มีรายได้น้อยจากชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ สัดส่วนผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่ารายจ่ายด้านอาหารเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21.2 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรค เป็นร้อยละ 50 ในระหว่างการระบาดและมีการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ร้อยละ 37.8 ต้องลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร

ร้อยละผลกระทบของโควิด-19 ต่อค่าใช้จ่ายด้านอาหารของคนในชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ

หมายเหตุ: สำรวจ พฤษภาคม-มิถุนายน 2563 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 900 คน จาก 9 ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: ผลกระทบของการระบาดของโรคโควิค-19 และมาตรการทางสังคม ต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้ที่มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร, แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดต้องลดการบริโภคอาหารประเภทต่างๆ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร โดยร้อยละ 64.1 ต้องลดอาหารประเภทสัตว์น้ำ อีกร้อยละ 52.2 ต้องลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และอีกร้อยละ 46.7 ต้องลดการบริโภคผลไม้ การระบาดของโควิด-19 จึงอาจส่งผลต่อการได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนที่มีรายได้น้อย

สัดส่วนของคนในชุมชนแออัดที่ต้องลดการบริโภคอาหารประเภทต่างๆ

หมายเหตุ: สำรวจ พฤษภาคม-มิถุนายน 2563 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 900 คน จาก 9 ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร

ที่มา: ผลกระทบของการระบาดของโรคโควิค-19 และมาตรการทางสังคม ต่อความมั่นคงทางอาหารของผู้ที่มีรายได้น้อยในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร, แผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ

สำหรับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ พบว่าโควิด-19 ทำให้สัดส่วนผู้ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอลดลงในทุกกลุ่มอายุ กลุ่มที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-17 ปี ที่มีสัดส่วนผู้มีกิจกรรมทางกายต่ำที่สุดอยู่แล้วเมื่อเทียบกลุ่มอายุอื่นตั้งแต่ก่อนมีการระบาด และเมื่อมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้โอกาสการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กและเยาวชนลดลง ในปี 2563 มีเด็กและเยาวชนไม่ถึง 1 ใน 5 ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ

สัดส่วนการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอปี 2555-2563 จำแนกตามกลุ่มอายุ

หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2564 ยังอยู่ในระหว่างการประมวลผล

ที่มา: ฟื้นกิจกรรมทางกายในประเทศไทยหลังวิกฤตโควิด-19, ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

นอกจากพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ ได้แก่ การดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 อีกด้วย โปรดรอติดตามอ่านในตอนที่ 2

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333