บทความสั้น
โรงงานหมิงตี้ระเบิด ถอดบทเรียนภัยพิบัติจากโรงงานอุตสาหกรรม (ตอนที่ 1)
Home / บทความสั้น

ทีมวิชาการสุขภาพคนไทย และผู้เขียนร่างแรก (ฐิติกรณ์ บุญทองใหม่ และนิชชาวัลย์ บุบผาชาติ)
สถานการณ์เด่น | พฤศจิกายน 2564

สถานการณ์การระเบิดโรงงานหมิงตี้ สาเหตุ และผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และชุมชนรอบข้าง

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลาประมาณ 02.50 น. เกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้อย่างรุนแรงภายในโรงงานของบริษัท หมิงตี้เคมิคอล จำกัด (บจก.หมิงตี้ฯ) ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดโฟม EPS (Expandable Polystyrene) และมีการใช้สารเคมีจำนวนมากในกระบวนการผลิต เช่น สารสไตรีนโมโนเมอร์ (styrene monomer) และ เพนเทน (pentane) เป็นต้น1,2  (ขณะเกิดเหตุภายในโรงงานมีสารสไตรีนเหลืออยู่ปริมาณมากกว่า 1,600 ตัน ที่บรรจุอยู่ในถังขนาด 2,000 ตัน3 และมีการเก็บสารเคมีอื่นอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบชื่อและปริมาณ นอกจากนี้ยังพบถ่านหินตกค้างภายในโรงงานจำนวน 20 ตัน4
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับอำเภอบางพลี ออกประกาศอพยพเร่งด่วนให้ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงาน5,6 กรมอนามัยออกประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันการสูดดมกลิ่นควันไฟจากโรงงาน เนื่องจากวัตถุดิบหลักในกระบวนการผลิตคือ สารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer)7 กรมควบคุมมลพิษได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า สารเคมีที่ถูกไฟไหม้คือ สารสไตรีน (สารตั้งต้นใช้ผลิตโฟม) และอันตรายของสารชนิดนี้8 และในเวลาต่อมา กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้คำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีนในพื้นที่ไฟไหม้ช่วงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 (วันที่เกิดเหตุ) โดยใช้แบบจำลอง Box Model ซึ่งใช้ข้อมูลอัตราการระบายจากแหล่งกำเนิด มาประมวลผลร่วมกับสภาพอุตุนิยมวิทยาของพื้นที่ คำนวณจากรัศมี 3 ระยะ ได้แก่ 1, 3 และ 5 กิโลเมตร ตามลำดับ พบว่าในระยะรัศมี 1 กิโลเมตร มีความเข้มข้นของสารสไตรีนอยู่ที่ 1,035.47 ppm, รัศมี 3 กิโลเมตร มีค่า 86.43 ppm และรัศมี 5 กิโลเมตร มีค่า 51.77 ppm และเมื่อเปรียบเทียบผลการตรวจวัดได้กับประกาศกรมควบคุมมลพิษ เรื่องค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีน พบว่าในระยะรัศมี 1 กิโลเมตรมีความเข้มข้นของสารชนิดนี้สูงเกินค่าขีดจำกัดของประกาศฉบับดังกล่าว 

ทั้งนี้ตามประกาศฯ เรื่องค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลันของสารสไตรีน ได้กำหนดขีดจำกัดการรับสัมผัสฯ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 มีค่า 20 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน), ระดับที่ 2 มีค่า 130 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไม่ร้ายแรง) และระดับที่ 3 มีค่า 1,100 ppm (ระดับความเข้มข้นสูงสุดของสารเคมีในบรรยากาศ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต)9

จากการตรวจสอบเหตุการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบความเป็นไปได้ของสาเหตุ ดังนี้ (1) อาจเกิดจากการคายความร้อนจากปฏิกิริยาทางเคมีในถังปฏิกิริยาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นปฏิกิริยาที่ควบคุมไม่ได้ (uncontrolled polymerization) ทำให้เกิดก๊าซ สไตรีนปริมาณมากภายในถังปฏิกิริยา และความดันในถังปฏิกิริยาสูงจน rupture disk แตกออกและระบายความดันออกมาสู่บรรยากาศ10 , (2) อาจมีการรั่วไหลจากท่อหรือวาล์วที่จะลำเลียงสไตรีนโมโนเมอร์ไปยังถังปฏิกิริยาและเกิดการสะสมเป็นปริมาณมากบริเวณกระบวนการผลิตที่มีถังปฏิกิริยาจนเกิดเป็นไอหมอกก๊าซสไตรีนโมโนเมอร์ 11,12  และ (3) อาจมีการรั่วไหลของก๊าซเพนเทนที่ท่อหรือวาล์วลำเลียงไปบริเวณจัดเก็บหรือบริเวณการผลิต13

การระเบิดของโรงงานของ บจก.หมิงตี้ฯ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐ เอกชน และประชาชนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง เนื่องจากสารเคมีและวัสดุที่ไหม้ไฟทำให้เกิดกลุ่มควันสีดำขนาดใหญ่ปกคลุมทั่วบริเวณ จนสามารถมองเห็นกลุ่มควันดำลอยไกลออกไปหลายสิบกิโลเมตร มีอาคารบ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายอย่างน้อย 70 หลังคาเรือน รถยนต์เสียหายอย่างน้อย 15 คัน ประชาชนบาดเจ็บอย่างน้อย 15 ราย อาสาสมัครบาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย และมีอาสาสมัครเสียชีวิต 1 ราย14 นอกจากนี้มีอาคารโรงงานที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จำพวกโฟมคล้าย บจก.หมิงตี้ฯ ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแรงระเบิดเช่นกัน ด้านการเยียวยาความเสียหายสำหรับประชาชน พบว่า อบต. ราชาเทวะ ได้เปิดลงทะเบียนจำนวนประชาชนที่ได้รับผลกระทบในช่วงวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2564 โดยกำหนดวงเงินเยียวยาที่จะให้แก่ประชาชนไว้สูงสุดรายละไม่เกิน 49,500 บาท และมีประชาชนมาลงทะเบียนรวมทั้งสิ้น 1,266 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 423 ล้านบาท15  อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ประชาชนที่ลงทะเบียนไว้เปิดเผยว่ายังไม่ได้รับการติดต่อจาก บจก.หมิงตี้ฯ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งเรื่องการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด16

เรื่องความเสียหายและผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม สมบัติ เหสกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ได้ประเมินความเสียหายตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ภาครัฐควรจะต้องกำหนดให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องครอบคลุมถึงการจัดการมลพิษ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการ และค่าเสียโอกาสจากการใช้งบประมาณ โดยประเมินตามขนาดพื้นที่เสียหายที่เกิดขึ้นและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง มูลค่าความเสียหายที่ชี้วัดได้อยู่ที่ประมาณ 3,000 – 4,000 ล้านบาท และมูลค่าความเสียหายที่ต้องรอการชี้วัดอย่างต่อเนื่องตามขอบเขตที่ได้รับผลกระทบ เช่น ความเจ็บป่วยในอนาคตของประชาชน ฯลฯ มีมูลค่าสูงประมาณ 5,000 – 6,000 ล้านบาท17  นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังสร้างผลกระทบต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่รอบโรงงานของ บจก.หมิงตี้ฯ ด้อยค่าลง 5 เปอร์เซ็นต์ 18,19 

การบรรเทาสาธารณภัยและการจัดการปัญหากรณีหมิงตี้

เหตุการณ์ระเบิดที่โรงงาน บจก.หมิงตี้ฯ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการบรรเทาสาธารณภัยและการขาดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาอุบัติภัยทางเคมีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในหลายด้าน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการไม่มีข้อมูลชนิดและปริมาณของสารเคมีที่เป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้มีการพัฒนาฐานข้อมูลกลางของสารเคมีที่ครอบคลุมถึงปริมาณการเก็บ การใช้ การผลิต การปลดปล่อย และการเคลื่อนย้ายสารเคมีต่างๆ และการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวด้วยระบบออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ฐานข้อมูลดังกล่าวมีความสำคัญที่จะช่วยทำให้หน่วยงานและบุคลากรที่ต้องรับมือกับภัยพิบัติฉุกเฉินสามารถเข้าถึงข้อมูลและใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนและตอบโต้สถานการณ์ได้ฉับไว แม่นยำ และปลอดภัย ในกรณีสารเคมีระเบิดของ บจก.หมิงตี้ฯ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการไม่เปิดเผยข้อมูลสารเคมีทั้งจากโรงงานที่เป็นต้นเหตุและหน่วยงานกำกับดูแลคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูล การขาดข้อมูลสารเคมีถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะสำหรับพนักงานดับเพลิงและหน่วยบรรเทาสาธารณภัย ทั้งในแง่ของความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากเพลิงเคมี วิธีการดับเพลิงเคมีและอุปกรณ์การดับเพลิง เป็นต้น ความไม่พร้อมและไม่มีความรู้จากการขาดข้อมูลส่งผลให้อาสาสมัครบาดเจ็บอย่างน้อย 5 ราย และเสียชีวิตอีก 1 ราย20  

ในอดีต ประเทศไทยเคยประสบกับอุบัติภัยทางเคมีมาแล้วหลายครั้งและมีอย่างน้อย 2 ครั้งที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น กรณีคลังเก็บสินค้าอันตรายที่เก็บสารเคมีจำนวนมากของท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ เกิดระเบิดและมีเพลิงไหม้เป็นเวลานานเกือบสัปดาห์ในปี พ.ศ. 2534 สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6,000 คน มีผู้เสียชีวิตทั้งในวันเกิดเหตุและเสียชีวิตในเวลาต่อมารวมมากกว่า 30 ราย บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบเสียหายมากกว่า 600 หลังคาเรือน มูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท21  และกรณีถังเก็บสารเคมีระเบิดที่โรงงานของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเมื่อปี พ.ศ. 2555 สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีประชาชนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 1,500 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,200 ราย และคนงานเสียชีวิตทันทีในจุดที่เกิดการระเบิดอย่างน้อย 11 ราย บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างโดยรอบเสียหายมากกว่า 300 หลังคาเรือน ความเสียหายมากกว่า 1.5-1.7 พันล้านบาท22  นอกจากความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากแล้ว เหตุการณ์แต่ละครั้งยังทิ้งสารตกค้างและสารมลพิษสะสมในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานานด้วย  จากเหตุการณ์ในอดีต สู่เหตุการณ์โรงงาน บจก.หมิงตี้ฯ ระเบิดในปี พ.ศ. 2564 (ระยะเวลา 30 ปี) แสดงให้เห็นว่า หน่วยงาน องค์กร หรือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังขาดการเรียนรู้และการพัฒนาในเรื่องการบริหารจัดการและการป้องกันเหตุอุบัติภัยทางเคมี

อันตรายจากสารเคมีในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน กรณีศึกษา บทเรียนจากหมิงตี้

สารเคมีหลักที่ บจก.หมิงตี้ฯ ใช้ในกระบวนการผลิตเม็ดโฟม EPS (Expandable Polystyrene) จัดเป็นสารที่เมื่อถูกเผาไหม้จะมีความอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรัง รายละเอียดดังนี้

  1. สไตรีนโมโนเมอร์ (styrene monomer) ลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสีหรือสีเหลืองใส และข้นเหนียวคล้ายน้ำมัน23  หากถูกเผาไหม้จะสลายตัวให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ24  และไอระเหยอาจเคลื่อนที่ไปในระยะทางที่ห่างไกลออกไปจากแหล่งกำเนิดประกายไฟและย้อนกลับมาติดไฟ25 หากสูดดมเข้าไปจะเกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ ไอ หายใจลำบาก26  กดระบบประสาทส่วนกลาง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และมึนเมา ถ้าได้รับสารปริมาณสูงจะชักและเสียชีวิตได้27  หากเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคือง28  และเป็นสารก่อมะเร็งของ IARC กลุ่ม 2B29,30 
  2. เพนเทน (pentane) ลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี กลิ่นเหมือนแก๊สโซลีน ไวไฟ (ไม่มีขั้วและไม่รวมกับน้ำ) หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ หายใจติดขัด ปอดบวม มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เคลิ้ม ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ไอ เซื่องซึม ตาพร่ามัว เมื่อยล้า อาการชักกระตุกอย่างรุนแรง หมดสติ ไม่รู้สึกตัว และอาจตายได้ ถ้าไอระเหย ควัน หรือละอองของสารสัมผัสกับตาโดยตรงจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ถ้าสัมผัสกับตาเป็นเวลานานจะทำให้เป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบ ในผู้ป่วย Non-Hodgkin's lymphoma อาจทำให้เกิดการพัฒนา clonal chromosome aberrations ของเซลล์ lymphoma31

สารอันตรายข้างต้นเป็นสารเพียงสองชนิดที่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ ขณะที่ในกระบวนการผลิตของโรงงานยังมีการเก็บและใช้สารเคมีอีกหลายชนิดที่ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลออกมา อย่างไรก็ดีสารทั้งสองชนิดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ เช่นเดียวกับกรณีคลังเก็บสินค้าอันตรายของท่าเรือคลองเตยระเบิด ในช่วง 1 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ที่ท่าเรือคลองเตยพบว่า มีประชาชนจำนวนมากที่ป่วยเนื่องจากได้รับสารเคมีในช่วงไฟไหม้จนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  อาการเจ็บป่วยที่พบมากสุดคือ กลุ่มผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รองลงมาคือโรคระบบผิวหนัง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคตา โรคระบบประสาท โรคระบบไหลเวียนโลหิต และอื่นๆ ตามลำดับ32,33  และกรณีถังเก็บสารเคมีระเบิดที่โรงงาน บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ใน 5 วันแรกหลังเกิดเหตุ มีการตรวจพบสารโทลูอีน เบนซีน และ สไตรีนในน้ำทิ้งรอบโรงงาน34  ก่อให้เกิดการสะสมของสารเคมีอันตรายเป็นจำนวนมากที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในช่วงเกิดเหตุและประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงาน ความแตกต่างที่พบคือ ในกรณี บจก.หมิงตี้ฯ  ยังไม่พบว่ามีการติดตามเฝ้าระวังทางสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับอันตรายจากสารเคมีในกรณีของ บจก. หมิงตี้ฯ เนื่องจากไม่มีการโยกย้ายโรงงานอันตรายออกจากพื้นที่อยู่อาศัยหรือการควบคุมการเติบโตของเมืองในกรณีที่พื้นที่นั้นมีโรงงานอันตรายตั้งอยู่ก่อน หรือการจัดทำพื้นที่กันชน (buffer zone) ระหว่างเขตโรงงานและเขตชุมชน ตามข้อบังคับของกฎหมายผังเมือง ในกรณีสารเคมีระเบิดของ บจก.หมิงตี้ฯ จึงเป็นกรณีที่น่าศึกษาต่อไปถึงปัญหาการไม่บังคับใช้กฎหมายผังเมืองให้เคร่งครัด จนนำไปสู่การจัดตั้งโรงงานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสารอันตรายต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน หรือการอนุญาตให้มีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ และห้างร้านต่างๆ ใกล้ชิดโรงงาน เมื่อเกิดอุบัติภัยจึงสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ในอดีตกรณีคลังเก็บสินค้าอันตรายของท่าเรือคลองเตยระเบิด มีเพียงกำแพงคอนกรีตกั้นระหว่างคลังสินค้าอันตรายกับชุมชน ส่งผลให้มีบ้านเรือนจำนวน 642 หลังคาเรือนบนเนื้อที่ดินประมาณ 5 ไร่ จมอยู่ในกองเพลิง35 หรือกรณีของโรงงาน บจก.หมิงตี้ฯ มีเพียงกำแพงคอนกรีตกั้นระหว่างโรงงานกับหมู่บ้านจัดสรรขนาดหลายร้อยหลังคาเรือน เมื่อเกิดเหตุระเบิดและไฟไหม้ หมู่บ้านที่อยู่ติดกับโรงงานจึงได้รับความเสียหาย36  อีกประการหนึ่งที่พบว่าเป็นปัญหาควบคู่กันมาคือ ระบบการจัดการ จัดเก็บ ติดตามตรวจสอบ และควบคุมกระบวนการต่างๆ ของสารอันตรายและสารเคมีที่เป็นวัตถุดิบของโรงงาน ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่มีการกำกับให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยร้ายแรงจากสารเคมีจึงเกิดได้ง่ายและส่งผลรุนแรงเมื่อโรงงานนั้นตั้งอยู่ใกล้ชุมชน


อ้างอิง

  1. กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม.
  2. มติชนออนไลน์, “สรุปไทม์ไลน์ ‘โรงงานหมิงตี้’ ตั้งแต่เหตุระเบิด ไฟไหม้ 5 ก.ค. ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น”, เว็บไซต์มติชนออนไลน์, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2564, https://www.matichon.co.th/local/news_2813545
  3. The Reporter, “LIVE: นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ แถลงความคืบหน้ากรณีเหตุเพลิงไหม้ บ.หมิงตี้เคมิคอล จำกัด”, เพจเฟสบุ๊ค The Reporter, วันที่สืบค้น 7 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/TheReportersTH/videos/1457336704615735/
  4. กรมควบคุมมลพิษ, “กรมควบคุมมลพิษติดตามการขนย้ายสารสไตรีนคงค้างไปกำจัดทำลาย และติดตามตรวจสอบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศ...”, เพจเฟสบุ๊คกรมควบคุมมลพิษ, วันที่สืบค้น 11 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/PCD.go.th/posts/4173747779375244
  5. มติชนออนไลน์, “สรุปไทม์ไลน์ ‘โรงงานหมิงตี้’ ตั้งแต่เหตุระเบิด ไฟไหม้ 5 ก.ค. ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น”, เว็บไซต์มติชนออนไลน์, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2564, https://www.matichon.co.th/local/news_2813545
  6. จส.100, “อัปเดต!! เหตุไฟไหม้โรงงาน ซ.กิ่งแก้ว 21”, เพจเฟสบุ๊ค JS100 Radio, วันที่สืบค้น 5 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/js100radio/posts/4295461963810671
  7. เพิ่งอ้าง
  8. กรมควบคุมมลพิษ, “สารสไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene, Monomer)”, เพจเฟสบุ๊คกรมควบคุมมลพิษ, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/PCD.go.th/posts/4158258134257542
  9. กรมควบคุมมลพิษ, “กรมควบคุมมลพิษ คำนวณค่าความเข้มข้นของสารสไตรีนในพื้นที่ไฟไหม้จังหวัดสมุทรปราการ”, เพจเฟสบุ๊คกรมควบคุมมลพิษ, วันที่สืบค้น 5 กรกฎาคม 2564. https://www.facebook.com/PCD.go.th/posts/4156836874399668
  10. กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน (กวภ.), กรมโรงงานอุตสาหกรรม
  11. เพิ่งอ้าง
  12. สุเมธา วิเชียรเพชร, อดีตผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี และอดีต ผอ.กองจัดการกากของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ, “ลำดับเหตุการณ์กรณีเหตุระเบิดเพลิงไหม้และสำรเคมีจากโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด”, สัมมนาประมวลสถานการณ์จริงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และข้อเสนอต่อการแก้ไข โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จังหวัดสมุทรปราการ, เครือข่ายนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม (ERTC Network) 
  13. กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน (กวภ.), กรมโรงงานอุตสาหกรรม
  14. มติชนออนไลน์, “สรุปไทม์ไลน์ ‘โรงงานหมิงตี้’ ตั้งแต่เหตุระเบิด ไฟไหม้ 5 ก.ค. ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น”, เว็บไซต์มติชนออนไลน์, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2564, https://www.matichon.co.th/local/news_2813545
  15. สำนักข่าวไทย, “เปิดลงทะเบียน เยียวยาเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้”, เว็บไซต์สำนักข่าวไทย, วันที่สืบค้น 27 กันยายน 2564, https://tna.mcot.net/region-736784
  16. พีพีทีวี, “ชาวบ้านชี้ บ.หมิงตี้ ยังไม่เยียวยา”, เว็บไซต์พีพีทีวีออนไลน์, วันที่สืบค้น 27 กันยายน 2564,  https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/151949
  17. พิชา รักรอด, “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย หมิงตี้เคมิคอลต้องจ่ายเท่าไหร่ !?!”, เว็บไซต์กรีนพีซ, วันที่สืบค้น 29 กันยายน 2564, https://www.greenpeace.org/thailand/story/20297/ming-dih-chemical-the-polluter-has-to-pay/
  18. ด้อยค่า คือ ภาวะที่กำลังซื้อชะงักจนทำให้ต้องลดราคาลงมาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้รู้สึกอยากซื้อ จะเกิดขึ้นเฉพาะมีเหตุการณ์ไม่ปกติ เวลาอสังหาฯด้อยค่าจะไม่นาน เมื่อตลาดกลับสู่ภาวะปกติราคาก็จะกลับมาตามกลไกตลาดเหมือนเดิม
  19. ประชาชาติธุรกิจ, “อสังหาช็อกหมิงตี้เอฟเฟ็กต์ ด้อยค่า 5%-ยันทำเลไม่ตาย”, เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ, วันที่สืบค้น 29 กันยายน 2564, https://www.prachachat.net/property/news-710489
  20. มติชนออนไลน์, “สรุปไทม์ไลน์ ‘โรงงานหมิงตี้’ ตั้งแต่เหตุระเบิด ไฟไหม้ 5 ก.ค. ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น”, เว็บไซต์มติชนออนไลน์, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2564, https://www.matichon.co.th/local/news_2813545
  21. สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ และชลดา ซื่อสัตย์, “รายงานการศึกษากรณีสารพิษคลองเตย”, โครงการวิจัยสุขภาพและความปลอดภัยกับการมีส่วนร่วมของคนงาน/ผู้ถูกกระทบ ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ, ตุลาคม 2549.
  22. นิชา รักพานิชมณี และคณะ, “การสื่อสารความเสี่ยงและการจัดการอุบัติภัยเคมีกรณีศึกษาอุบัติเหตุโรงงาน บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง”, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, กุมภาพันธ์ 2556
  23. กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, “โรคจากสไตรีน”, เว็บไซต์กรมควบคุมโรค, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2563, http://envocc.ddc.moph.go.th/contents/view/59
  24. กรมควบคุมมลพิษ, “สารสไตรีน โมโนเมอร์ (Styrene, Monomer)”, เพจเฟสบุ๊คกรมควบคุมมลพิษ, วันที่สืบค้น 6 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/PCD.go.th/photos/a.174461189303943/4158246580925364/
  25. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “เอกสารข้อมูลความปลอดภัย MSDS “STYRENE”, SIGMA-ALDRICH”, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2563, http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Trf/msdst/msdst100-42-5.html 
  26. บริษัท เมอร์ค จำกัด, เอกสารข้อมูลความปลอดภัย MSDS “Styrene”, คำแปลโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์  2563, http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/8076/807679.htm 
  27. กรมควบคุมมลพิษ, “สไตรีน (Styrene)”, เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์  2563, http://www.pcd.go.th/info_serv/Datasmell/l3styrene.htm 
  28. บริษัท เมอร์ค จำกัด, เอกสารข้อมูลความปลอดภัย MSDS “Styrene”, คำแปลโดย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมโรงงานอุตสาหกรรม, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์  2563, http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Merck/msdst/8076/807679.htm, อ้างแล้ว
  29. กลุ่ม 2B หมายถึง อาจจะเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Possibly carcinogenic to humans) การสัมผัสกับสารกลุ่มนี้ในปริมาณหรือระยะเวลาหนึ่ง มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
  30. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, “เอกสารข้อมูลความปลอดภัย MSDS “STYRENE”, SIGMA-ALDRICH”, วันที่สืบค้น 24 กุมภาพันธ์ 2563, http://www.chemtrack.org/MSDSSG/Trf/msdst/msdst100-42-5.html, อ้างแล้ว
  31. ศูนย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี, “n-Pentane”, เว็บไซต์ฐานข้อมูลสารเคมีศูนย์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม, วันที่สืบค้น 30 มีนาคม 2563, http://www.occmednop.com/nrhc/web/search/chemical_attribute_show.php?UN_Number=1265&Chemical_name=n-Pentane&Att_parent=0 
  32. สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย, “ข้อมูลการตรวจรักษาพยาบาลของหน่วยแพทย์ ระหว่างวันที่ 2-26 มีนาคม 2534”, กรุงเทพมหานคร 
  33. กรมการแพทย์, “ข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการจากหน่วยแพทย์และคลินิกพิเศษในโรงพยาบาล ระหว่างวันที่ 2 มีนาคม -2 เมษายน 2534”, กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร
  34. กรมควบคุมมลพิษ, “ผลการติดตามตรวจสอบมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากกรณีการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้ บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง”, มิถุนายน 2555
  35. สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ และชลดา ซื่อสัตย์, “รายงานการศึกษากรณีสารพิษคลองเตย”, โครงการวิจัยสุขภาพและความปลอดภัยกับการมีส่วนร่วมของคนงาน/ผู้ถูกกระทบ ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ, ตุลาคม 2549.
  36. มูลนิธิบูรณะนิเวศ, “เอกสารประกอบการแถลงข่าวเพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด กรณีสารเคมีระเบิดและเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้”, 13 กรกฎาคม 2564
     

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333