บทความสั้น
13 หมุดหมายของ แผนพัฒนาฯ ที่ยังไม่ถูกโควิด-19 ดิสรัป กับประเด็นสังคมที่ต้องเข้มอีกนิด
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | ตุลาคม 2564

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะสิ้นสุดระยะการดำเนินงานของแผนในปี 2564 หลังจากที่ทำหน้าที่เป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ขณะนี้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อยู่ในระหว่างกระบวนการจัดทำร่าง ซึ่งได้มีการนำเสนอในการประชุมประจำปี 2564 ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ หรือ สศช.) เมื่อวันพุธที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา

เมื่อเห็นเวทีอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิที่มาแสดงความคิดเห็นต่อแผนพัฒนาฯ ซึ่งมี 3 คน เป็นภาคการเงินและการลงทุน 2 คน คือ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ เอสซีบี อบาคัส จำกัด ส่วนอีกคนเป็นนักธุรกิจภาคพลังงาน คือ คุณสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ ก็นึกสังหรณ์อยู่ในใจว่าแผนพัฒนาฯ จะหนักไปทางเศรษฐกิจ และเบาทางสังคม และยังคิดว่า หากบนเวทีมีตัวแทนคนที่จะช่วยสะท้อนปัญหาสังคมสักคนก็น่าจะดีและจะช่วยสะท้อนความเป็นแผนแม่บทที่ต้องพัฒนาชาติอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในวันที่มีข่าวเด็ก ม.2 เครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกตายเพราะคับแค้นใจที่ถูกเครือข่ายแม่ค้าออนไลน์อายุ 18 กับ 19 หลอกขายโทรศัพท์มือถือที่จะเอาไปเรียนออนไลน์ โดยแม่ค้าใหญ่เป็นเด็กสาวอายุ 19 ที่ให้การว่าขายออนไลน์มาแล้วตั้งแต่อายุ 14 และอาจร่วมกับแฟนหนุ่ม โดยพ่อแม่ของทั้งสองฝ่ายรับรู้และกำลังโทษกันไปมา เหตุการณ์นี้แฝงประเด็นทางสังคมที่สำคัญๆ และน่าเป็นห่วงมากมาย และประเด็นสังคมอื่นๆ ที่ปะทุออกมาจากทั้งสถานการณ์โควิด-19 และน้ำท่วม

แม้จะฟังการเสวนาตั้งแต่ต้นจนจบแต่ก็ยังไม่กล้าจะสรุป จนเมื่อได้อ่านร่างแผนพัฒนาฯ จบแล้วก็พบว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ประเด็นทางสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างเด่นชัด เห็นจะมีเพียงเรื่องการต่อสู้กับความยากจน และความเหลื่อมล้ำ แต่กลับทิ้งประเด็นสำคัญอื่นๆ ไปอย่างน่าเป็นห่วง

แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้มองบริบทการพัฒนาประเทศใน 7 มิติ ได้แก่ (1) ความมั่นคง (2) เศรษฐกิจ (3) ความสามารถในการแข่งขัน (4) ทรัพยากรมนุษย์ (5) สังคม (6) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (7) การบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งเมื่อขยายเข้าไปดูรายละเอียดของมิติทรัพยากรมนุษย์ และมิติสังคม ก็จะเห็นว่าเน้นหนักไปที่ปัญหาเรื่องทักษะความสามารถ ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ การพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงบริการของภาครัฐ สุขภาวะ ความเปราะบาง เป็นหลัก

ส่วนแนวทางในการพัฒนาประเทศ กำหนดเป็น 13 หมุดหมายได้แก่ (1) ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง (2) ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน (3) ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก (4) ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง (5) ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค (6) ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน (7) ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้ (8) ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน (9) ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม (10) ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11) ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (12) ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต (13) ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

ลองขมวด 13 หมุดหมายอีกที ได้เป็น 4 เรื่อง คือเศรษฐกิจดีขึ้น สิ่งแวดล้อมดีขึ้น คนเก่งขึ้นและจนน้อยลง และภาครัฐเก่งขึ้น

สิ่งที่สะกิดใจจากตัวอักษรแรกถึงตัวอักษรสุดท้ายของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 คือการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สร้างการเปลี่ยนแปลงระดับพลิกผัน (disrupt) ที่พลิกโลก และพลิกไทยภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน และที่สำคัญกว่านั้นคือไม่มีใครคิดว่ามันจะปิดฉากลงง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อเชื้อมีการกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ ตอนนี้มีแต่คนคิดว่าสังคมโลกและสังคมไทยคงต้องใช้ชีวิตอยู่แบบมีโควิด-19 อย่างนี้ไปอีกนาน...และคำว่า “นาน” ที่ว่านี้คงเป็นอันเลย 5 ปีของระยะแผนพัฒนาฯ อย่างแน่นอน แต่แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้กล่าวถึงโควิด-19 แบบผ่านๆ มีการสอดแทรกเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามหมวดต่าง ๆ เหมือนใส่เติมไว้ ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบคิด (mindset) โครงสร้าง หรือระบบสำคัญๆ โควิด-19 ไม่ได้เป็นแม้แต่ฉากหลัง (background) ของหนทางในการวางแผนเพื่อการพัฒนาประเทศ ทั้งๆ ที่การรับมือกับสถานการณ์การระบาดในปี 2521 ฉุกละหุกวุ่นวายจนแทบไม่เป็นกระบวน
 

ความละล่ำละลักในการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดโดยเฉพาะของภาครัฐ ตั้งแต่เรื่องการจัดการวัคซีน การจัดการกับระบบสาธารณสุข การให้ความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนการเตรียมการต่างๆ เพื่อรองรับเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ที่อาจจะมีอีกในวันข้างหน้า สะท้อนให้เห็นชัดว่าหลายสิ่งหลายอย่างต้องใช้โมเดลใหม่ คิดใหม่ ทำใหม่ อย่างเช่นเรื่องแนวทางการประกอบอาชีพ ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่แนวทางการทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งจากชีวิตวิถีใหม่ หรือความเคยชินกับชีวิตวิถีใหม่เสียแล้ว หรือการตั้งการ์ดป้องกันตัวอย่างสุดแรงเพราะความรู้ความเข้าใจต่อโรคก้าวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อโรค แม้สถาบันวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกต่างระดมสรรพกำลังในการศึกษาก็ตาม
 

การที่หลายอาชีพที่ต้องมีการติดต่อสัมผัสทางกายสูง หรือต้องพึ่งพาการรวมตัวของคนจำนวนมาก ที่จะต้องหายไป หรือปรับตัวครั้งใหญ่ เป็นเรื่องที่พูดกันมากอยู่แล้ว และรู้กันมากอยู่แล้วโดยไม่ต้องสาธยายซ้ำอีก แต่สิ่งที่ยากไปกว่านั้นคือโครงสร้างและระบบการศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตสนองตลาดแรงงานแบบชีวิตวิถีเดิมจะปรับเปลี่ยนอย่างไรใน 5 ปีนี้ เพื่อไม่ให้ผลิตทรัพยากรบุคคลที่สำเร็จวิชาชีพ หรือถือวุฒิการศึกษาที่ตลาดไม่ต้องการที่อาจได้รับผลกระทบหนักไปกว่าช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 กลับไม่มีการกล่าวถึงในแผนพัฒนาฯ
 

หลายพื้นที่ที่เคยพึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น จนแทบทุกอย่างในพื้นที่เป็นไปเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่วันนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมามากมายใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาด เพราะต้องรอทั้งความปลอดภัยในพื้นที่เหล่านั้น และความพร้อมของนักท่องเที่ยวจากต่างชาติที่จะกลับเข้ามา แผนพัฒนาฯ บอกเพียงว่า (น.57) “แนวโน้มของการแพร่ระบาดยังคงรุนแรงและยืดเยื้อ จากการแพร่กระจายของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ทั่วโลกทำให้ฉากทัศน์ของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทยในระยะต่อไปยังคงมีความไม่แน่นอน” จากนั้นตัวชี้วัด และค่าเป้าหมายต่างๆ ก็เป็นไปเสมือนกับการท่องเที่ยวดำเนินอยู่ตามปกติ ไม่มีการพูดถึงโมเดลการทำมาหากินของคนในพื้นที่เหล่านั้นที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอดในช่วงระยะเวลาที่การท่องเที่ยวอาจต้องใช้เวลาเพื่อรอให้เครื่องติดใหม่อีกครั้ง
 

การปิดตัวลงของกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises: SMEs) เพราะสายป่านไม่ยาวพอเหมือนธุรกิจใหญ่ๆ เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2564 ปิดกิจการไปแล้วกว่า 20,000 ราย [1]  และเฉพาะ SMEs ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างเดียวขณะนี้เลิกจ้างพนักงานไปแล้วกว่าร้อยละ 70 [2]  ทุนทางทักษะและความรู้ที่สะสมในอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบถึงระดับฐานราก คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกำลังหันไปสู่การเป็น Mini-preneur ซึ่งเป็นกิจการขนาดจิ๋ว หรือแม้แต่ Solo-preneur ซึ่งเป็นกิจการแบบเจ้าของคนเดียว โลดแล่นค้าขายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว สร้างการกระจายรายได้ในระดับฐานรากอย่างน่าจับตามอง

นอกจากนี้หมุดหมายที่ว่าด้วยการเตรียมความพร้อมให้คนไทยรับมือกับภัยธรรมชาติ มีการกล่าวถึงวาตภัย อุทกภัย แผ่นดินไหว สึนามิ แต่กลับไม่กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับภัยทางชีวภาพที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่ามีความรุนแรงไม่แพ้กัน ทั้งยังอาจกว้างขวางและรุนแรงกว่ากันมาก และความพร้อมที่ว่านี้ไม่ใช่เพียงแต่ความพร้อมในการระวังป้องกันเท่านั้น แต่ต้องเป็นความพร้อมในการฟื้นตัวเพื่อให้ชีวิตและสังคมดำเนินต่อไปได้ (resilience) ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทย และครอบครัวไทยต้องเรียนรู้ในการปรับตัว และสร้างกลไกทางสังคมเพื่อสนับสนุนส่งเสริมกันอย่างเป็นระบบ โดยรอคอยและพึ่งพาภาครัฐให้น้อยที่สุด เนื่องจากล่าช้าและสับสน ประเด็นนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินต่อไปของชีวิต สังคม และเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก

ในส่วนของประเด็นทางสังคมนั้น แผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ให้ความสำคัญอย่างชัดเจนกับการการขจัดความยากจน ทั้งความยากจนในปัจจุบัน และความยากจนที่จะข้ามรุ่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขจัดความเหลื่อมล้ำโดยตรง โดยแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของหมุดหมายอื่นๆ เพื่อให้ประเทศไทยหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ภายในปี 2570 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นนี้ถือว่าแผนมีความขึงขังเอาจริงเอาจังเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสังคมที่เกี่ยวกับความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวดูเหมือนจะได้รับความใส่ใจน้อยลง ทั้งๆ ที่ทุกครั้งที่สังคมไทยเผชิญกับภาวะวิกฤตต่างๆ ความเข้มแข็งของครอบครัวเป็นเบาะรองรับแรงกระแทกที่สำคัญ รวมทั้งการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และการผลักดันทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนาฯ นี้ย่อมจะต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากความอบอุ่นและสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของสมาชิกในครอบครัวเป็นสำคัญ ในแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ นับคำได้ทั้งสิ้น 18,748 คำ [3]   ปรากฏคำว่า “ครอบครัว” เพียง 13 คำ (คำว่า “ครัวเรือน” 59 คำ) ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 10 มี 143 คำ ฉบับที่ 11 มี 169 คำ และฉบับที่ 12 มี 53 คำ ดูเหมือนความสำคัญของครอบครัวในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทย กำลังลดความสำคัญลง ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร โครงสร้างเศรษฐกิจ และความไม่เท่าเทียมของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ดูจะบั่นทอนสถาบันครอบครัวปัจจุบันอย่างรุนแรง

ยังเหลือเวลาอีกเกือบปี กว่าแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะประกาศใช้ และ สศช. ก็ยังอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็น จึงหวังว่าที่สุดแล้ว ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการพิจารณา


ที่มา:

[1]  ไทยพีบีเอส (7 มิถุนายน 2564). โควิดกระทบ SMEs ไตรมาสแรกปี 64 ปิดกิจการ 20,000 ราย สืบค้นจาก https://news.thaipbs.or.th/content/304985 สืบค้นเมื่อ 28 กันยาย 2564
[2]  ฐานเศรษฐกิจ (28 กันยาย 2564). ท่องเที่ยวอ่วมคนตกงานแล้ว3ล้านคนดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจQ3ปี64ดิ่งเหว. สืบค้นจากhttps://www.thansettakij.com/business/497643 สืบค้นเมื่อ 28 กันยายน 2564
[3]  นับโดยเว็บไซต์ countwordfree.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333