บทความสั้น
วัคซีน-การปรับชีวิต เข็มทิศอนาคต กับฉากทัศน์ประเทศไทยหลังจาก 120 วันข้างหน้า
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | มิถุนายน 2564

นายกรัฐมนตรีแถลงการณ์พิเศษด้วยตัวเองเป็นเวลา 12.52 นาที เมื่อวาน (เย็นวันพุธที่ 16 มิถุนายน 2564) ให้เปิดประเทศ “ให้ได้ภายใน 120 วัน” นับจากวันนี้ หรือราวกลางเดือนตุลาคม ยอมรับว่าเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยง และบอกว่า “ถึงเวลาแล้วครับที่เราจะต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันบ้าง” แม้จะไม่เน้นชัดเจนโจ่งแจ้งแต่ก็แอบแฝงที่หางประโยคว่าตอนนี้มีใครบางคนที่ต้องรับความเสี่ยงอยู่เพียงลำพัง..ชวนให้สงสัยว่าใครคนนั้น คือใคร? ฝ่ายคนทั่วไปที่ฟังอยู่ก็คงคิดถึงตัวเองอยู่ว่า “เสี่ยงทุกวันเหมือนกัน” หรือนายกฯ จะหมายถึง “คนอื่น?”

นับเป็นแถลงการณ์ครั้งหนึ่งที่เต็มไปด้วยไม่แน่นอน ผิดไปจากการแถลงการณ์โดยทั่วไปที่จะชวนสร้างความมั่นใจ ให้กำลังใจ ปลุกใจ อย่างไรก็ตามการจะแถลงความไม่แน่นอนก็ไม่ได้ผิดอะไร ความไม่แน่นอนเป็นอนิจลักษณ์ที่เราต้องพบพานกันเป็นปกติอยู่แล้วเพียงแต่สาเหตุของความไม่แน่นอนเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือความไม่มีประสิทธิภาพในรูปแบบต่างๆ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นายกฯ ยังบอกว่าเดินหน้าสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้อต่างๆ ซึ่งหลายยี่ห้อเราก็เพิ่งได้รู้ไม่นานมานี้เองว่าจะมีเข้ามาในประเทศไทยด้วย โดยได้สั่งซื้อแล้ว 105.5 ล้านโดส ซึ่ง “เกินเป้าหมาย” และจะได้เดินหน้าฉีดให้ได้เดือนละ “กว่า”สิบล้านโดส จากเดิมที่เคยแถลงไว้อย่างขึงขังเมื่อเดือนเมษายน 2563 ว่าจะฉีดให้ได้ 15 ล้านโดสต่อเดือน[1]  และจะให้ได้ 50 ล้านคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่[2]  แถลงการณ์เมื่อวานนี้แจ้งว่า “คาดว่าต้นเดือนตุลาคมจะมีคนได้รับ “เข็มแรก” อย่างน้อย 50 ล้านคน” และกลับมาย้ำการสั่งการเรื่อง “การฉีดวัคซีน” ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งคิดว่าการฉีดวัคซีนน่าจะเป็นประเด็นทางท้ายน้ำแล้ว และหน่วยงานที่เตรียมการฉีดก็น่าจะพร้อม คนรอฉีดมีมากกว่าคนกลัวการฉีดหลังจากโฆษณาชวนฉีดกันอย่างเอิกเกริก แต่ปัญหาเรื่องประสิทธิภาพน่าจะอยู่ที่ “ต้นน้ำ” หรือเกือบจะถึง “ตาน้ำ” มากกว่า จึงไม่แน่ใจว่าที่นายก “สั่งการ ในแถลงการณ์” นั้น นายกฯ สั่งใคร?

ดูนายฯ จะฝากความหวังไว้กับการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอย่างมาก สั่งเกตจากการนำร่องด้วยการเปิดจังหวัดภูเก็ตเป็นกระบะทราย (Phuket sandbox) และหวังว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน่าจะรู้ดีกว่าเมื่อเปิดประเทศแล้วจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาตามจำนวนที่มีแต่เดิมก่อนการเกิดโควิด-19 แต่จะกลับมาบ้างบางส่วน เพราะนายกฯ เองก็แถลงความไม่แน่ใจว่า “...ด้วยกรอบเวลานี้ “ผมคาดหวังว่า” หลายประเทศคงจะเริ่มผ่อนคลายให้ประชาชนของเขาสามารถเดินทางออกมาท่องเที่ยวได้แล้ว” ภาคการท่องเที่ยวคงต้องมีโมเดลออกมาแล้วว่า เมื่อเปิดประเทศในอีก 120 ข้างหน้า นักท่องเที่ยวจะเข้ามาสักเท่าไหร่ นักท่องเที่ยวภายในประเทศจะมีสักเท่าไหร่ และจะค่อยๆ เพิ่มเป็นอีกเท่าไหร่ ในอีกเมื่อไหร่ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมการได้ และต้องไม่ลืมว่า ภาคการท่องเที่ยวไม่ได้ สแตนด์อะโลน (Standalone) มีความเกี่ยวเนื่องกับภาคอื่นๆ ทั้งแบบที่เป็นต้นทาง และปลายทาง โดยเฉพาะการเป็นปลายทางนี้หมายความว่า หากภาคอื่นๆ ไม่โต ท่องเที่ยวก็ไม่โตไปด้วย

ภาพอนาคตประเทศไทยหลังจากกลางเดือนตุลาคมนี้ ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคงต้องพยายามคาดเดาภาพอนาคตประเทศไทยแบบ “ปีต่อปี” กันต่อไป

การวางแผนด้วยฉากทัศน์แห่งอนาคต (Future Scenario Planning) เป็นเครื่องมือการวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตยอดนิยมอย่างหนึ่ง ระเบียบวิธีนี้ มักทำกับอนาคตระยะประมาณ 5-10 ปี ซึ่งหากยาวกว่านั้นก็จะทำนายได้ยากเพราะปัจจัยแทรกซ้อนมีจำนวนมาก และคาดเดาได้ยาก ผลที่ได้จะกลายเป็นความเพ้อฝันไปเสียหมด แต่หากสั้นกว่านั้นปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างหลักๆ ของสังคมจะยังเปลี่ยนแปลงไม่มาก ภาพที่ได้ก็อาจไม่ต่างจากปัจจุบันมากมาย

แต่กับสถานกาณ์การระบาดของโควิด-19 นี้ ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นในปีต่อปีดูช่างเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้เลย ย้อนหลังกลับไปเมื่อปีที่แล้วในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ ถ้าเป็นในสังเวียนมวยก็ต้องบอกว่าประเทศไทยยืนยืดอกในการรับมือกับโควิด-19 ยกที่ 1 แบบคู่ต่อสู้ทำอะไรไม่ได้มากนัก เดินกลับเข้ามุมหลังจากจบยกแรกได้อย่างสดชื่นกระปรี้กระเป่าด้วยการควบคุมตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ให้กลายเป็น “ศูนย์” ภายในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือน เสียงชมที่ทำให้ทั่วโลกจับตามองมาที่ประเทศไทจมาจากตัวผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกเองเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 ว่า “ประเทศไทยดำเนินตามมาตรการต่างๆ ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างดีจนสามารถป้องกันการระบาดขนาดใหญ่ได้” [3] 

ดังที่เซียนมวยทั้งหลายรู้ดีกว่า ยกแรกเป็นยกดูเชิง ถ้าผ่านยกแรกมาได้แล้วการออกหมัดออกมวยและฝีไม้ลายมือเด็ดๆ จะค่อยได้มีให้เห็นกันตอนยกสอง พอยกสามจะเริ่มรู้ว่าฝ่ายไหนหมดแรงหมดอาวุธก่อน พอถึงยกสี่แค่เดินออกจากมุมก็รู้แล้วว่าที่พนันไว้จะหมดตัวหรือเปล่า

ในการระบาดระลอกสามนี้ ประเทศไทยดูกระปรกกระเปรี้ยชนิดที่คนดูและพี่เลี้ยงก็งงไปเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาวุธเด็ดที่ใครต่อใครรอคอยมาตั้งแต่ยกที่หนึ่งเมื่อปีที่แล้ว คือทั้งวัคซีน และการกระจายของวัคซีน รวมทั้งการมีเวลาเตรียมการล่วงหน้ามาแล้วเป็นปี กลายเป็นอะไรที่ตอนนี้คาดเดาไม่ได้เลยอย่างน่าประหลาด ในบทความเรื่อง “Imagination ในวันที่พบวัคซีน ฉากพีคที่ยังไม่ตกผงึกในซีรีส์ COVID-19” ที่ได้เคยเขียนไว้เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ในมติชนออนไลน์[4] ก็ได้เคยมองภาพความโกลาหลต่างๆ ไว้ ในที่สุดเกิดขึ้นจริงๆ

ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้ คงทำให้ต้องวิเคราะห์ภาพอนาคตแบบปีต่อปีกันต่อไป

ในทางอนาคตศึกษา (Future study) โดยเฉพาะที่ใช้วิธีการวางแผนฉากทัศน์แห่งอนาคต (Future Scenario Planning) ซึ่งใช้กันมากในการจัดการเชิงกลยุทธ์ และการวางแผนระยะยาว นักวางแผนจะมองหาปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ (Key driver) 2 ตัว มาไขว้กันเพื่อทำเป็นเข็มทิศแห่งอนาคต (Future compass) ที่จะนำไปสู่การสร้างฉากทัศน์ (Scenario) ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญนั้นต้องมีคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการคือ (1) มีความไม่แน่นอน (Uncertainty) สูง และ (2) มีผลกระทบ (Impact) สูง

ในกรณีประเทศไทยกับสถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้ การฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญตัวที่หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบสูงเนื่องจากหากทำสำเร็จก็จะปลดพันธการทางสังคม และเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่คนทุกหัวระแหงเรียกร้อง แม้จะมีความกล้าๆ กลัวๆ ในผลข้างเคียงของวัคซีนก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนก็มีความไม่แน่นอนว่าจะทำได้สำเร็จเมื่อไหร่ จนทุกวันนี้อุปสรรคที่แท้จริงที่ขัดขวางการซื้อและการกระจายวัคซีนคืออะไรก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดต่อสังคมไทย เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากร หรือราวๆ 50 ล้านคน ซึ่งต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 15 ล้านโดสต่อเดือนยังเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นทั้งประชาชนและรัฐบาล

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอีกตัวหนึ่งที่น่าจะนำมาวิเคราะห์ร่วมด้วยเพื่อการมองภาพอนาคตของประเทศไทย คือความสามารถของคนไทยในการปรับตัวและปรับชีวิตให้เข้ากับโลกใหม่ที่มีโควิด-19 จะเรียกว่านิวนอร์มอล (New normal) หรือเนกซ์นอร์มอล (Next normal) ก็แล้วแต่ แต่มันเป็นโลกที่สัมผัสใกล้ชิดทางกายภาพอย่างเดิมไม่ได้อีก แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม ไม่มีใครรู้ได้เลยว่าการพัฒนาสายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสจะเป็นอย่างไรต่อไป ผลข้างเคียงระยะยาวของวัคซีนมีหรือไม่ และอื่นๆ อีกมากมาย ปัจจัยการปรับตัวและปรับชีวิตนี้ มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างมีนัยสำคัญ จังหวัดท่องเที่ยวที่แม้จะเปิดน่านฟ้าแล้วแต่นักท่องเที่ยวทั้งต่างประเทศและไทยกลับมาไม่เต็มจำนวนเหมือนเคย หลายอาชีพ หลายกิจกรรม หลายประเพณีและวัฒนธรรมที่อาจต้องหายไปอย่างถาวร ปัจจัยการปรับชีวิตนี้จึงมีผลกระทบสูง และมีความไม่แน่นอนสูงเช่นกัน

ฉากทัศน์ “คร่าวๆ” 4 ฉากทัศน์ที่จะเกิดจากปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญทั้งสองตัวนี้คือ ฉากทัศน์ที่ 1 คือฉากทัศน์ที่การฉีดวัคซีนดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว จะด้วยปาฏิหาริย์อะไรบางอย่างก็ตามที่เข้ามาแก้ไขระบบและโครงสร้างเกี่ยวกับการตัดสินใจและการดำเนินการฉีดวัคซีนให้คล่องตัว รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันคนไทยพร้อมที่จะปรับวิถีชีวิตและการทำมาหากินในโลกที่ต้องอยู่กับโควิด-19 สารพัดสายพันธุ์ได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นฉากแฮปปี้เอนดิ้ง (Happy ending) ที่ทุกคนใฝ่ฝันถึงอย่างไม่ต้องสงสัย การฟื้นตัวทางสังคมและเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และอาจเป็นจังหวะดีที่จะสามารถแซงหน้ามาเลเซียที่วิ่งนำไทยมาหว่า 2 ทศวรรษ ฉากทัศน์ที่ 2 คือฉากทัศน์ที่การแก้ไขปัญหาการฉัดวัคซีนสำเร็จ แต่คนไทยปรับตัวไม่ได้ ยัง “ไปไม่เป็น” ในโลกที่มีระเบียบและวิถีชีวิใหม่ ยังคงติดกรอบการดำเนินชีวิตและการทำมาหากินแบบเดิม การ Upskill และการ Reskill ของทรัพยากรมนุษย์เดินหน้าไม่ถึงไหน ไม่สามารถหาโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ แม้จะเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่พฤติกรรมลูกค้าก็เปลี่ยนไปเสียแล้ว  ฉากทัศน์ที่ 3 คือฉากทัศน์ที่คนไทยปรับตัวได้ แต่การแก้ปัญหาวัคซีนไม่สำเร็จไม่ว่าจะด้วยวัคซีนไม่พอ คนไม่กล้าฉีดเพราะกลัวผลข้างเคียง หรือเพราะแม้จะฉีดแล้วก็เกิดสายพันธุ์ใหม่และติดเชื้อใหม่ได้ ซึ่งฉากทัศน์นี้อาจยังพอมีทางรอดที่ดีกว่าฉากทัศน์ที่ 2 เพราะชีวิตและการทำมาหากินดำเนินต่อไปได้ แต่นั่นหมายความว่าทุกคนต้องลุกขึ้นมาแสวงหาแนวทางการปรับชีวิตแนวทางการทำมาหากินเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ส่วน ฉากทัศน์ที่ 4 คือฉากทัศน์ที่ทั้งการแก้ปัญหาฉีดวัคซีนก็ไม่สำเร็จ และคนไทยส่วนใหญ่ก็ปรับตัวไม่ได้ คงจะเป็นฉากทัศน์ที่หดหู่อย่างที่สุดและสามารถดับฝันยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้เลยทีเดียว

โดยปกติแล้ว การวางแผนฉากทัศน์จะมีการระบุว่าฉากทัศน์ที่อยากเห็นมากที่สุด (Most desired) คืออะไร และฉากทัศน์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด (Most plausible) คืออะไร ในกรณีประเทศไทยกับโควิด-19 นี้ ฉากทัศน์ที่ 1 คงเป็นอะไรที่ใครๆ ก็อยากเห็น แต่ฉากทัศน์ที่น่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดนั้นภาคส่วนต่างๆ และคนในสังคมคงต้องช่วยกันครุ่นคิด

อย่างไรก็ตาม จุดหมายปลายทางของการวางแผนฉากทัศน์ไม่ใช่การทำนายว่าฉากทัศน์ไหนจะเกิดขึ้น แต่อยู่ที่การวางแผนว่าจะต้องดำเนินการด้านไหนอย่างไร เพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในฉากทัศน์ต่างๆ และเพื่อให้ยกที่ 4 ของสังเวียน ไทย vs โควิด-19 หลังจาก 120 ข้างหน้า ที่สุดกรรมการชูมือให้ “ไทยชนะ”


[1] Hfocus. (28 เมษายน 2564). เดินหน้าฉีดวัคซีนโควิดคนไทย 50 บ้านคนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่. สืบค้นจาก https://www.hfocus.org/content/2021/04/21518 เมื่อ 16 มิถุนายน 2564
[2]  มติชนออนไลน์. (5 พฤษภาคม 2564). ‘บิ๊กตู่’ ย้ำแผนฉีดวัคซีน 15 ล้านโดสต่อเดือน เอาชนะสงครามโควิดให้ได้. 
[3]  WHO. (2020). WHO Director-General’s opening remarks at the media briefing on COVID-19-27 July 2020. Retrieved June 15, 2021: from https://www.who.int/director-general/speeches/detail/who-director-general-s-opening-remarks-at-the-media-briefing-on-covid-19---27-july-2020.  
[4] ภูเบศร์ สมุทรจักร. (2563). Imagination ในวันที่พบวัคซีน ฉากพีคที่ยังไม่ตกผลึกในซีรีส์ COVID-19. มติชนออนไลน์ (2 พฤษภาคม 2563). สืบค้นเมื่อ 15 มิถุนายน 2564 จาก 
https://www.matichon.co.th/article/news_2166102 

ภาพประกอบ www.freepik.com


Related Topics : วัคซีน

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333