บทความสั้น
การโจมตีวิถีชีวิตมนุษย์ของไวรัสโคโรน่า
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | กุมภาพันธ์ 2563

ดูเหมือนว่านับตั้งแต่ที่โลกรู้จักกับคำว่าโลกาภิวัฒน์ผ่านบทความของศาสตราจารย์ Theodore Levitt เมื่อปี 1983 ยังไม่มีปรากฏการณ์ไหนที่ลุกลามแพร่ขยายที่ทั้งทางกว้างในเชิงพื้นที่และทางลึกที่ลงถึงระดับวิถีชีวิตได้เท่ากับการอุบัติของไวรัสโคโรน่าที่แพร่ออกมาจากอู่ฮั่น เมืองใหญ่ที่สุดของมณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นโลกาภิวัฒน์ของโรคติดต่อ (Globalization of infectious diseases) ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาคมโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ความร้ายแรงอันพิเศษของไวรัสโคโรน่าที่แตกต่างจากเชื้อโรคอื่นที่สร้างความโกลาหลให้กับพลเมืองโลกคือการที่ไวรัสนี้สามารถแพร่จากคนสู่คนได้ ด้วยวิธีที่แสนง่ายเช่นการสูดหายใจแล้วเอาเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ (Aerosol infection) เข้าไป แถมเชื้อโรคนี้สามารถแพร่ไปสู่บุคคลอื่นได้แม้จะอยู่ในระยะเวลาฟักตัว ทำให้ผู้ที่มีเชื้อโรคนี้อยู่ในร่างกายสามารถแพร่เชื้อได้ทั้งๆ ที่ตนเองยังไม่ออกอาการของโรคและดูเหมือนมีอาการปกติทุกประการ ซึ่งระยะเวลาฟักตัวของเชื้อนานยาวถึง 14 วันก่อนที่จะแสดงอาการ

โทษสมบัติอันพิเศษนี้เองที่ทำให้วิถีการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วไปเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ความหวาดกลัวแหล่งที่เป็นที่ชุมนุมของฝูงชนไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ ขนส่งสาธารณะ ที่ทำงาน สถานศึกษาฯ ซึ่งมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตของสังคมเมืองในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเช่นการออกนอกบ้านเมื่อจำเป็น หลีกเลี่ยงฝูงชน และที่สาธารณะ การใส่แมส (หน้ากากอนามัย) เป็นนิสัยซึ่งต้องฝึกทั้งผู้ใหญ่และเด็กให้เกิดความเคยชิน การล้างมือ การเช็ดโทรศัพท์และไมโครโฟนที่ต้องใช้ร่วมกันหลายคน การติดตามรายชื่อประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยงซึ่งเลยเถิดไปถึงการมีทัศนคติไม่ดีต่อเชื้อชาติ (Racist) และแม้แต่การรังเกียจคนเชื้อชาติเดียวกันเพียงรู้ว่าเพิ่งไปประเทศที่เป็นพื้นที่เสี่ยงมาอย่างเช่นที่เกิดในประเทศยูเครน (Ukraine)

อย่างไรก็ตาม อุบัติการณ์ไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ ก็ทำให้คนในสังคมเกิดความระมัดระวังด้านสุขภาวะมากขึ้น มีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ การสร้างมาตรฐานการควบคุมโรคระบาด การกลั่นกรองและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการสร้างเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อ ซึ่งน่าจะทำให้โลกมีความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับโลกาภิวัฒน์ของโรคติดต่อที่ดูจะเกิดถี่ขึ้น และแพร่ขยายรวดเร็วขึ้นเป็นเงาตามอัตราเร่งของการเชื่อมโลกปัจจุบัน


Related Topics : โควิด

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333