บทความสั้น
COVID เหมือนกัน แต่ COVID ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ร่วม ที่หลากความหมาย ในหลายเจเนอเรชัน
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | เมษายน 2563

COVID-19 ได้กลายเป็นชะตากรรมร่วมที่คนทุกเพศทุกวัยทุกสถานที่เผชิญร่วมกัน และได้รับผลกระทบในระดับเข้มข้นอย่างน้อยใน 6 เดือนแรกของ ปี 2563 และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องที่ลดความเข้มข้นลงบ้าง แต่จะนานยาวเท่าใดนั้น ณ ขณะนี้ยังไม่มีใครที่จะมองเห็นภาพที่เหลือทั้งหมด

ในทางเจเนอเรชันศึกษา (Generational studies) ปรากฏการณ์นี้จัดว่าเป็นความทรงจำร่วม (Collective memories) ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการสร้างลักษณะเฉพาะของคนแต่ละรุ่นอายุ และทำให้เกิดพิกัดทางสังคม (Social location) ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มทางสังคมในแง่ของความคิดและพฤติกรรมอย่างหนึ่ง และคำว่า “ลักษณะเฉพาะ” นี้ หมายความว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างผลกระทบและมีความหมายที่แตกต่างกันสำหรับคนแต่ละเจเนอเรชัน

สำหรับ “เจเนอเรชันเงียบ” (Silent generation) ซึ่งเป็นเจเนอเรชันที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2468-2485 ณ ปีนี้ มีอายุระหว่าง 78-95 ปี เป็นเจเนอเรชันที่สูงวัยที่สุด และผ่านเหตุการณ์เลวร้ายระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงตัวเองมาแล้วอย่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อตอนเยาว์วัย คนรุ่นนี้ผ่านประสบการณ์วิ่งเข้าหลุมหลบภัยและการหนีสงครามไปอยู่แถบชานเมือง ได้ชื่อว่าเป็นเจเนอเรชัน “เงียบ” เพราะเติบโตมาในความแร้นแค้นของสงครามและเศรษฐกิจในช่วงที่บ้านเมืองไทยปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ COVID-19 จึงอาจเตือนให้คนเจเนอเรชันเงียบนี้นึกถึงความยากลำบากในครั้งนั้น คนกลุ่มนี้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจปี 2527 เมื่ออายุประมาณ 35-45 ปี ตอนนั้นจัดอยู่ในวัยกลางคนที่การสร้างฐานะและสร้างครอบครัวค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว จากนั้นจึงมาประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อีกครั้งเมื่อวัยใกล้เกษียณ และสำหรับเจเนอเรชันเงียบชาวกรุงเทพฯ ยังแถมประสบการณ์น้ำท่วมปี 2554-2555 ที่ต่างก็ได้รับผลกระทบถึงเนื้อถึงตัวโดยตรง ไม่ใช่เพียงแค่ติดตามข่าวและจิตตกอยู่หน้าจอโทรทัศน์เท่านั้น มาในคราวนี้ เจเนอเรชันเงียบ เงียบลงด้วยวัยชราและความอ่อนล้าทางกาย และได้กลายเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางที่สุดต่อการได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จนถึงขณะนี้อัตราการตายของเจเนอเรชันเงียบจาก COVID-19 ก็ยังสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเจเนอเรชันอื่นๆ และเมื่อคนทั้งโลกย้ายหนี COVID-19 จากโลกออฟไลน์เข้าไปอยู่ในพื้นที่ออนไลน์ ก็สร้างความอึดอัดให้กับเจเนอเรชันเงียบเหล่านี้ไม่น้อยเนื่องจากขาดความเข้าใจและความคล่องตัวในการใช้ชีวิตผ่านเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ และคงมีอีกหลายคนถอดใจที่จะเรียนโลกที่จับต้องไม่ได้นี้แม้จะมีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบันก็ตาม ครั้นจะหาลูกหลานที่มีความอดทนพอที่จะอธิบายท้าวความให้คนยุคก่อนระบบแอนะล๊อก (Analog) ก็ดูเหมือนจะไม่มีใครที่มีเวลาว่างและใจเย็นพอ

สงกรานต์ปีนี้ เจเนอเรชันเงียบจะเงียบและเศร้าที่สุดเพราะจะไม่ได้เจอลูกหลานที่ตัวเองเฝ้าที่จะได้พบพร้อมหน้าพร้อมตาเพียงปีละไม่กี่ครั้ง และอาจต้องหัดอวยพรผ่านสื่อโซเชียลต่างๆ คงมีคนเจเนอเรชันเงียบจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า เหตุการณ์นี้คงเป็นความโกลาหลระดับโลกครั้งสุดท้ายที่ตนเองจะได้พบเจอ

เบบี้บูม (Baby boom generation) เป็นเจเนอเรชันที่เกิดต่อจากเจเนอเรชันเงียบ (พ.ศ.2486-2505) ขณะนี้อายุ 58-77 ปี เป็นวัยใกล้เกษียณและเตรียมวางมือจากการทำงาน ส่วนหนึ่งได้เข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุวัยต้น และวัยกลางไปแล้ว เมื่อยามวัยรุ่น คนกลุ่มนี้อยู่ในช่วงที่พบเห็นและบางคนมีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เมื่อตอนวิกฤตเศรษฐกิจ 2527 เจเนอเรชันเบบี้บูมอยู่ในวัยที่การงานคงที่และเริ่มสร้างครอบครัว มีลูกเล็กๆ แต่เมื่อมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 คนกลุ่มนี้เข้าสู่วัยกลางคน ในวิกฤตคราวนี้ กลุ่มเบบี้บูมอาจได้เปรียบกว่าเจเนอเรชันเงียบอยู่บ้างในแง่ที่ได้ปรับตัวในการอยู่รอดผ่านโลกออนไลน์มาแล้วระยะหนึ่ง ความคล่องทางเทคโนโลยีที่แม้อาจไม่ถึงระดับว่องไวแต่ก็พอที่จะใช้ซื้อของและบรรเทาความเงียบเหงาจากการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ แต่การอยู่ห่างจากผู้คนตัวเป็นๆ นี้ อาจสร้างความช๊อคให้กับเจเนอเรชันเบบี้บูมค่อนข้างมากเพราะส่วนใหญ่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากพอ เจเนอเรชันเบบี้บูมในวันนี้อยู่ในวัยที่ลูกๆ โตแล้ว และหลายคนมีหลานเล็กๆ และอยู่ในการเปลี่ยนแปลงที่มีคนจำนวนไม่น้อยอยู่ห่างไกลจากลูกและหลาน การติดตาม COVID-19 รายวัน ประกอบกับการรายงานข่าวยุคนี้ที่ทั้งมีหลากหลายช่องทาง หลากหลายอารมรณ์ รวมทั้งมี Animation ประกอบเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้รับข่าวสาร สร้างความวิตกไม่น้อยเกี่ยวกับสวัสดิภาพของลูกหลานของเจเนอเรชันเบบี้บูม

เจเนอเรชันเอกซ์ (Generation X) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดระหว่าง พ.ศ.2506-2525 ขณะนี้อายุ 38-57 ปี เป็นกลุ่มวัยทำงานที่ต้องดูแลกลุ่มพึ่งพิงทั้ง 2 กลุ่ม คือกลุ่มเด็กและกลุ่มผู้สูงอายุ นับว่าเป็นกลุ่มที่รับภาระหนักที่สุดในวิกฤต COVID-19 เจเนอเรชันเอกซ์นี้ผ่านวิกฤตครั้งแรกคือวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ซึ่งขณะนั้นส่วนหนึ่งเป็นวัยรุ่นแล้ว และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในช่วงเริ่มทำงาน รับรู้รสชาติของการปลดพนักงาน การประหยัด ความอ่อนไหวไม่คงที่ของเศรษฐกิจ และมีจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบจากประสบการณ์น้ำท่วม 2544-2555 ซึ่งทำให้เข้าใจขั้นตอนการรับมือด้านต่างๆ ในภาวะวิกฤต แต่วิกฤตการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นในขณะที่ตัวเองยังไม่มีภาระต้องดูแลใครมากนัก ภาระอันหนักของเจเนอเรชันเอกซ์ในวันนี้ คือการที่ต้องพะวงทั้งความปลอดภัยของลูกที่ยังไม่เป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ การดูแลพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว และส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน การเดินทางไป-มาเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดทำได้ไม่สะดวก มิหนำซ้ำยังต้องประคับประคองแก้ไขปัญหาหน้าที่การงานให้ดำเนินต่อไปให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษารายได้และหนทางในการทำมาหากินต่อไป และมีเจเนอเรชันเอกซ์อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องแก้ไขปัญหา COVID-19 โดยตรง ประสบการณ์และความรู้ของเจเนอเรชันเอกซ์ครั้งนี้ จะถูกจดจำและเป็นชุดข้อมูลที่สำคัญของการรับมือกับวิกฤตการณ์ที่จะเกิดครั้งต่อไป

ส่วนเจเนอเรชันวาย (Generation Y) ซึ่งเกิดระหว่าง พ.ศ.2526-2546 ขณะนี้อายุ 17-37 ประมาณ 1 ใน 4 ยังอยู่ในระบบการศึกษาตั้งแต่อาชีวศึกษา มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย อีก 3 ใน 4 อยู่ในตลาดแรงงานแล้ว เจเนอเรชันนี้เกิดไม่ทันวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เสียด้วยซ้ำ วิกฤตการณ์ที่ใหญ่ที่สุดในความทรงจำของคนรุ่นนี้กล่าวได้ว่ามีเพียงเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554-2555 เท่านั้น และเป็นช่วงที่ยังเป็นเด็กอยู่มาก เหตุการณ์ COVID-19 ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เจเนอเรชันวายโตเป็นวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่แล้ว กลุ่มที่ยังเรียนหนังสืออยู่กำลังถูกผลักดันให้เข้าสู่การเรียนแบบทางไกล (Distance learning) อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น หลังจากที่ทำแบบครึ่งๆ กลางๆ ด้วยความไม่พร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะผู้สอนเจเนอเรชันเบบี้บูม และเอกซ์ แม้กระนั้นก็ไม่ปัญหามากนักเพราะเจเนอเรชันวายเติบโตและคุ้นเคยกับโลกออนไลน์มาอย่างโชกโชน และน่าจะเป็นกลุ่มผู้นำในการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่นด้วยซ้ำ แต่การตัดขาดตัวเองจากการรวมกลุ่มทางสังคมอย่างฉับพลันในวัยที่เพลิดเพลินกับการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง การทำงานในร้านกาแฟ หรือตาม Co-working space การออกกำลังกายตามฟิตเนส แต่กลับต้องอยู่ที่บ้านกับครอบครัวนานเป็นพิเศษตามคำสั่งของพ่อแม่อาจสร้างความอึดอัดให้กับเจเนอเรชันวายไม่น้อย แม้จะมีเกมและเอ็นเตอร์เทนเมนท์อื่นทั้งในโทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค และแท็บเล็ตอย่างไม่จำกัด นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เด็กๆ คิดถึงห้องเรียนและอยากกลับไปเรียนหนังสือ ส่วนเจเนอเรชันวายที่กำลังจะเริ่มทำงานหรือทำงานไปแล้วระยะหนึ่ง เริ่มสัมผัสซึ้งถึงความเชื่อมโยงระหว่างโลกาภิวัตน์ โรคระบาด และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แม้แต่การค้าขายออนไลน์ซึ่งเจเนอเรชันนี้มีความช่ำชอง ก็ประกันความอยู่รอดได้เพียงแค่บางส่วน

สำหรับเด็กน้อยอย่างเจเนอเรชันซี (Generation Z) ซึ่งเกิดหลัง พ.ศ.2546 เป็นต้นมา ขณะนี้อายุน้อยกว่า 17 ปีลงไปจนถึงวัยแบบเบาะ นั่งฟังวิกฤตการณ์ COVID-19 จากการสนทนาของผู้ใหญ่ซึ่งตัวเองอาจไม่มีความรู้หรือความเห็นร่วมด้วยอะไรมากนักเพราะยังขาดประสบการณ์ เป็นเจเนอเรชันที่เพิ่งรู้ว่าการไม่ใส่แมสออกนอกบ้านเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวง เสียงไอและจามเป็นสิ่งที่น่ากลัวราวกับเสียงปืนในฉากฆาตกรรม เจเนอเรชันนี้อาจคิดถึงฟาสต์ฟูดร้านโปรดอย่าง เคเอฟซี รวมทั้งร้านอาหารอื่นๆ อย่างเอ็มเค
ซูกิชิ บอนชอน รวมไปจนถึงหมูกะทะร้านโปรด และการไปห้างสรรพสินค้า เจเนอเรชันซีที่เป็นเด็กเล็กมากๆ อาจจะจดจำอะไรได้ไม่มากนักเมื่อโตขึ้นและรู้แต่เพียงว่าช่วงนั้นพ่อกับแม่อยู่บ้านทั้งวัน โรงเรียนเลื่อนการเปิดเทอม และนอกรั้วบ้านมีแต่เชื้อโรคที่ทำให้ถึงตายได้

ไม่มีใครตอบได้ว่า COVID-19 จะจบเมื่อไหร่ และจบลงอย่างไร หากสามารถ Lockdown จนไม่พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร และการป้องกันตัวเองด้วย Social distancing จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของสังคมมนุษย์จะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหลังจากนี้ ยังรอคำตอบที่จะมีความหมายต่างกันไปสำหรับแต่ละเจเนอเรชัน


Related Topics : โควิด

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333