บทความสั้น
ผู้ชายเตะบอล...แล้วผู้หญิงทำอะไร?
Home / บทความสั้น

มนสิการ กาญจนะจิตรา คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | พฤษภาคม 2563

การออกกำลังกายเป็นประจำ เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดี องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้มีอายุ 5-17 ปี มีกิจกรรมทางกายที่ระดับความหนักปานกลางถึงระดับหนักรวมสะสมไม่น้อยกว่า 60 นาทีต่อวัน ส่วนผู้ที่มีอายุ 18-64 ปี ให้มีกิจกรรมทางกายระดับหนักสะสมอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ หรือระดับปานกลางสะสมอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยในแต่ละครั้งต้องปฏิบัติต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 นาที

​การทำงาน การออกกำลังกาย และการเล่นกีฬา นับเป็นกิจกรรมทางกายได้หากมีการขยับร่างกายหรือใช้แรง ข้อมูลจากโครงการติดตามเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2562 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เผยให้เห็นลักษณะกิจกรรมทางกายของวัยรุ่นชายและหญิงอย่างน่าสนใจ

​ในส่วนที่เหมือนกัน คือวัยรุ่นและเยาวชนทั้งชายและหญิงราว 1 ใน 4 มีกิจกรรมทางกายในโรงเรียนจากวิชาพลศึกษา ลูกเสือเนตรนารี และเกษตรกรรม แต่นอกเหนือจากหลักสูตรบังคับในโรงเรียนแล้ว กิจกรรมทางกายของวัยรุ่นและเยาวชนชายและหญิงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในการทำงาน ลักษณะกิจกรรมสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันระหว่างชายและหญิงในสังคม คือ ผู้ชายจะทำงานที่ใช้กำลังมากกว่า เช่น การยกของ เข็นสิ่งของ เคลื่อนย้ายสิ่งของ ในขณะที่ที่ผู้หญิงจะเป็นงานบ้านเป็นหลัก เช่น การกวาดบ้าน ถูบ้าน ทำความสะอาดบ้าน หรือการล้างห้องน้ำ

ส่วนการออกกำลังกายและการเล่นกีฬา กิจกรรมยอดฮิตในหมู่ผู้ชายคงหนีไม่พ้นการเล่นฟุตบอล แต่สำหรับผู้หญิง ไม่มีกีฬาหรือการออกกำลังกายอะไรที่ได้รับความนิยมอย่างชัดเจน ที่นิยมมากที่สุดในบรรดาวัยรุ่นและเยาวชนเพศหญิงจะเป็นการวิ่งเพื่อสุขภาพ

​ผลจากทั้งสังคม ค่านิยม และวัฒนธรรม ทำให้ปัจจุบันวัยรุ่นและเยาวชนเพศหญิงมีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าเพศชายอย่างเห็นได้ชัดในทุกช่วงอายุ นอกจากนี้ยังมีเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การมีสวนสาธารณะหรือพื้นที่ส่วนกลางที่เข้าถึงง่ายและปลอดภัยสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ที่ส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกาย

ติดตามข้อมูลกิจกรรมทางกาย และข้อมูลสุขภาพด้านต่าง ๆ ของวัยรุ่นและเยาวชนไทยได้ ในรายงานสุขภาพคนไทย 2563


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333