บทความสั้น
คุณภาพการศึกษาของเวียดนาม
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | พฤษภาคม 2563

จากผลคะแนน PISA เมื่อปี 2561 ของประเทศในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประเทศเวียดนาม มีคะแนนทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน รองจากสิงคโปร์เท่านั้น และมีคะแนนมากกกว่าประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่ม Dev ถึง 7 ประเทศ ซึ่งได้แก่ แอลเบเนีย โคลอมเบีย อินโดนีเซีย จอร์แดน เปรู ตูนิเซีย และไทย รวมทั้ง มีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และสูงกว่าอีกหลายประเทศที่มีทั้งค่า GDP และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมสูงกว่าอีกด้วย

ว่ากันว่า รากฐานความสำเร็จของเวียดนาม เกิดจากปรัชญาขงจื้อ ที่หยั่งรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมเวียดนามยกระดับให้คนเวียดนามมีความสามัคคี ปลูกฝังความอดทน และเห็นคุณค่าของการทำงานหนัก ขณะที่องค์ประกอบความสำเร็จทั้งตัวเด็ก พ่อแม่ และครู ก็มีวินัยเคร่งครัด มีความทุ่มเท จากการวิจัย The Young Lives[1] พบว่า ครูเวียดนามมีคุณภาพสูง เพราะได้รับการคัดเลือกอย่างดี มีวินัยและไม่ปรากฎว่ามีการขาดสอน ส่วนพ่อแม่ แม้ไม่ได้มีการศึกษาสูง แต่มีความใกล้ชิดกับลูก เอาใจใส่การเรียน และร่วมมือกับครู ช่วยเหลือโรงเรียนในการระดมทรัพยากรทางการศึกษาเป็นอย่างดี  ขณะที่เด็กนักเรียน มีวินัยสูง เห็นได้จากตัวเลขการขาดลามาสายต่ำ นอกจากนี้ การลงทุนด้านการศึกษาของเวียดนามมีอัตราส่วน แม้ว่าโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทมีมาก แต่ล้วนมีคุณภาพมาตรฐาน Fundamental School Quality Level[2] ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรการเรียน มีคอมพิวเตอร์ไม่มากแต่ทุกเครื่องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้เกือบหมด[3]  ในชุมชน มีผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนตรวจสอบดูแล ว่ามีเด็กในวัยเรียนเท่าไร มีผู้ที่เรียนหรือไม่ได้เข้าเรียนอย่างไร และมีการลงพื้นที่ค้นหาสาเหตุของการไม่ส่งเด็กเรียนหนังสือ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความยากจน[4]

เด็กนักเรียนเวียดนามผูกผ้าพันคอสีแดง เป็นสัญลักษณ์ที่แฝงปรัญชาของคนเก่ง คนดีที่โอจิมินห์มอบไว้ให้ชาวเวียดนามยุคหลังสงคราม

ภาพ: https://pixabay.com/th/images/search/children/?cat=education&pagi=7

แต่ปัญหาของการเข้าถึงการศึกษาในเวียดนามก็มีไม่น้อย แม้ว่า จะมีการเรียนฟรีในระดับปฐมศึกษา แต่สำหรับอนุบาล และมัธยม ผู้ปกครองต้องจ่ายเองบางส่วน ครอบครัวที่ยากจนจึงไม่ส่งลูกเรียนต่อมัธยม โดยมีสถิติการเรียนต่อของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเพียง 60% เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นนักเรียนที่มีฐานะ และเรียนดี ส่วนนักเรียนที่ยากจน มีเพียง 20% ที่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมปลาย[5] ที่สำคัญคนเวียดนามจำนวนมากเห็นว่าในภาคการศึกษาของเวียดนามมีการทุจริตมากถึงมากที่สุด สิ่งที่นับว่าเป็นเรื่องทุจริตทางการศึกษา ได้แก่ การที่โรงเรียนรับเงินจากนักเรียนเพื่อให้เข้าเรียนในโรงเรียน การที่ครูสอนพิเศษเก็บเงินจากนักเรียน ซึ่งทำให้ครูมีรายได้สูงมาก และการที่พ่อแม่จ่ายเงินเป็นค่าเรียนกวดวิชาสำหรับลูกหลาน เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา

  1. Making Progress: Report of the Young Lives School Survey in Vietnam. Retrieved from https://www.younglives.org.uk/sites/www.younglives.org.uk/files/Vietnam-School-Survey_Summary.pdf

  2. World Bank, (2016), Education in Vietnam: Development History, Challenges and Solution., (Online), Available: http://siteresources.worldbank.org/EDUCATION/Resources/278200-1121703274255/1439264-1153425508901/Education_Vietnam_Development.pdf, September 18, 2016. 

  3. https://themomentum.co/momentum-feature-thai-education-system/

  4. https://www.eef.or.th/ผ่าการศึกษาเวียดนาม/

  5. https://www.ft.com/content/da4387d0-aba8-11e8-8253-48106866cd8a


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333