บทความสั้น
วัยรุ่นและเยาวชน vs บุหรี่และเหล้า
Home / บทความสั้น

เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | พฤษภาคม 2563

“การสูบบุหรี่และดื่มสุราของคนไทยในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน 15-24 ปี พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพใน 2 เรื่องนี้ ยังค่อนข้างทรงตัว”

จากผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบสัดส่วนคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่ มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 23.0 ในปี 2547 เป็นร้อยละ 21.4 ในปี 2554 และลดลงเหลือร้อยละ 19.1 ในปี 2560 เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่ดื่มสุรา ที่ลดลงในช่วงปีสำรวจเดียวกันจากร้อยละ 32.7 เป็น 31.5 และ 28.4 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการรณรงค์ลด-เลิกบุหรี่และเหล้า ของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายสุขภาพต่าง ๆ ที่ทำงานอย่างหนักในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องบุหรี่และเหล้าโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน (15-24 ปี) เป็นความท้าทายและจุดเน้นที่ต้องรณรงค์ ป้องกัน และเฝ้าระวัง กันต่อไป เนื่องจาก พบว่าสัดส่วนของวัยรุ่นและเยาวชนในกลุ่มอายุนี้ที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้า ยังค่อนข้างทรงตัว ไม่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่แสดงแนวโน้มการลดลงที่ชัดเจน โดยมีสัดส่วนของผู้ที่สูบบุหรี่ในช่วงปี 2547 ถึง 2560 ขึ้นลงอยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 15-17 (ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 15.4) เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่สูบบุหรี่ที่อยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 22-25 (ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 23.9)

เมื่อนำข้อมูลผลการสำรวจในปี 2560 มาพิจารณาเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน (15-24 ปี) พบว่า ในภาพรวมของประชากรกลุ่มนี้ มีสัดส่วนผู้ที่สูบบุหรี่ “เป็นประจำ” ถึงร้อยละ 12.3 (หรือประมาณ 1 ใน 8 โดยในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนชาย มีสัดส่วนที่สูบบุหรี่เป็นประจำถึงร้อยละ 23.9 หรือเกือบ 1 ใน 4) สัดส่วนผู้ที่ดื่มสุรา  “สม่ำเสมอ” (หรือ ดื่มอย่างน้อย 1-2 วัน ในทุกสัปดาห์) คิดเป็นร้อยละ 7.2 ของวัยรุ่นและเยาวชนทั้งหมด (เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนชายมีสัดส่วนที่ดื่มสม่ำเสมอถึงร้อยละ 13.3)

​เมื่อจำแนกตามภูมิภาค วัยรุ่นและเยาวชนที่สูบบุหรี่เป็นประจำคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดใน “ภาคใต้” ถึงร้อยละ 16.3 และ ต่ำที่สุดใน “ภาคเหนือ” ที่ร้อยละ 7.7 ขณะที่ การดื่มสุราสม่ำเสมอกลับมีสัดส่วน สูงที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน “ภาคเหนือ” ที่ร้อยละ 9.6 และ ต่ำที่สุดใน “ภาคใต้” ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าสนใจและชี้ให้เห็นว่า การทำงานรณรงค์ และสนับสนุนการลดเลิกบุหรี่และเหล้าในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนในแต่ละภูมิภาคของประเทศ ควรต้องกำหนดจุดเน้นในการทำงานที่แตกต่างกัน ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคใต้ จุดเน้นอาจจะเป็นที่ปัญหาการสูบบุหรี่ แต่สำหรับภาคเหนือ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาการดื่มสุรามากกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ พฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพในเรื่องบุหรี่และเหล้า รวมถึง ตัวชี้วัดสุขภาพในมิติต่าง ๆ ของวัยรุ่นและเยาวชนไทย สามารถติดตามได้ใน “รายงานสุขภาพคนไทย 2563 สองทศวรรษปฏิรูปการศึกษาไทย ความล้มเหลวและความสำเร็จ”


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333