บทความสั้น
Imagination ในวันที่พบวัคซีน ฉากพีคที่ยังไม่ตกผลึกในซีรีส์ COVID-19
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | พฤษภาคม 2563

หัวเรื่องแบบนี้ รู้ได้ทันทีว่าคงล่อเป้าให้นักวิจารณ์สายปฏิบัตินิยม (Pragmatisms) ระดมหมัดจวกกันจนกรรมการข้างสนามกดให้คะแนนแทบไม่ทัน...เพราะใครๆ คงคิดว่ามันเหมือนกับซื้อล๊อตเตอรี่หวังรางวัลที่ 1 แล้วก็นั่งฝันว่าถ้าถูกรางวัลที่ 1 แล้ว จะใช้เงินยังไงดี ทั้งๆ ที่วันหวยออกก็เลื่อน และโอกาสถูกมีเพียงริบหรี่

​แต่กระนั้นก็เถอะ ตอนนี้ข่าวสำนักไหนก็ดูจะเห็นไปในทางเดียวกันว่าการทดลองวัคซีนคงจะสำเร็จได้ในที่สุด เพียงแต่จะช้าเป็นปี หรือเร็วเป็นครึ่งปีเท่านั้น แต่หากดูเหตุการณ์ COVID19 เหมือนกับภาพยนตร์ Sci-Fi เรื่องหนึ่ง (อย่างเช่นเรื่อง Contagion ที่ออกฉายเมื่อ 9 ปีก่อน ที่เรื่องราวเหมือนกันราวกับถอดเรื่องจริงออกมาจากภาพยนต์!!) ฉาก “เกือบจบ” ของเรื่อง COVID19 นี้ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง คงเพราะเรื่องราวกำลังอยู่ในช่วงครึ่งๆ กลางๆ

อย่างไรก็ตาม คิดเอาไว้ก็คงไม่เสียหายนัก เพราะมีจะว่าไปแล้วเหตุการณ์ในตอนที่คิดค้นไวรัสได้สำเร็จก็มีเรื่องให้คิดและจินตนาการเพื่อการเตรียมความพร้อมอยู่ไม่น้อย

​ในบทความเรื่อง “COVID เหมือนกัน แต่ COVID ไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ร่วม ที่หลากความหมาย ในหลายเจเนอเรชัน”[1] (เผยแพร่ใน www.thaihealthreport.com เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563) ได้เคยเปรียบเหตุการณ์ COVID19 ไว้ว่าทั้งความกว้างและความลึกของผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจคล้ายกับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ก็อยากเปรียบอีกว่าการยุติ หรือการเริ่มคลี่คลายก็อาจคล้ายกันด้วย

​เมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ย่อหน้าสำคัญที่เหตุการณ์เริ่มดำเนินเข้าสู่จุดยุติคือการทดลองระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกาสำเร็จ และส่วนที่ต้องเน้นเป็นตัวหนาและขนาดใหญ่ๆ คือการทดลองสำเร็จก่อนเยอรมันนี หลังจากนั้นบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลก ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็โดดเด่นขึ้นอย่างรวดเร็ว

​ขณะนี้ประเทศที่ถือว่าอยู่ในลู่แข่งขันการทดลองวัคซีนที่ทุกคนทั่วโลกตั้งตารอคอยนี้มี 3 ประเทศ คือสหรัฐอเมริกา จีน และอังกฤษ ซึ่งจากข้อมูลความคืบหน้ามีแนวโน้มว่าจีนจะมีความก้าวหน้ามากกว่าใครๆ และหน่วยงานของจีนที่ได้รับมอบหมายภารกิจนี้ก็มีมากกว่า 1 แห่ง และบางแห่งอยู่ในต่างประเทศ เช่นออสเตรเลีย[2] อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรแน่นอนในขณะนี้ พอๆ กับเมื่อตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แม้แต่ญี่ปุ่นและเยอรมันนี ก็ไม่เชื่อว่าสหรัฐจะทำสำเร็จ และความคืบหน้าในการทดลองวัคซีนนี้ก็คงจะเป็นความลับสุดยอด เมื่อการทดลองสำเร็จเป็นที่แน่นอนก็คงไม่เหมือนกับอาร์คีมีดิสที่ร้องลั่น “ยูเรกา!!” แล้ววิ่งโทงๆ ออกจากอ่างน้ำด้วยความดีใจสุดขีด แต่คงจะต้องมีการรายงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและอยู่ในระดับชั้นความลับสุดยอด เพราะขั้นตอนต่อจากนั้น ตั้งแต่การเผยแพร่ข่าว ใครเป็นผู้แถลง ใครจะเป็นผู้ผลิต การจัดสรรให้กับใครก่อนใครหลัง และการกระจายไปยังเจ็ดพันล้านคน (หรือไม่ก็ใกล้เคียงที่สุด) มีความละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นชนวนที่พร้อมจะจุดระเบิดได้ทุกขั้นตอน

การเป็นประเทศแรกที่พบวัคซีนที่คนเจ็ดพันล้านคนกำลังใจจดใจจ่อรอคอย จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์และทำให้ประเทศนั้นมีอำนาจต่อรองมากเพียงใด

แต่นั่นก็ออกจะดูเป็นทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy theory) หรือมองโลกในแง่ร้ายมากเกินไป ที่สุดแล้วหน่วยงานระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) อาจมีวิธีคลี่คลาย และดับฝันความเป็นมหาอำนาจทางสาธารณสุข ต่อด้วยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใครแอบหวังอยู่ ยกเว้นประเทศนั้นจะเป็นประเทศที่กำลังเป็นไม้เบื่อไม้เมาและตัดงบสนับสนุน WHO ในช่วงนี้

​แต่ถึงอย่างนั้น โมเดลในการกระจายวัคซีนนี้จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร “ใคร” ซึ่งหมายถึงทั้งประเทศ และบุคคล (ไม่ได้หมายรวมถึงคนที่ทดลองรับวัคซีน) จะได้รับสิทธินั้นก่อน และด้วยเหตุผลอะไร

​ดราม่าที่อยู่ในภาพยนต์เรื่อง Contagion และ 2012 นำเสนอภาพที่ไม่ค่อยน่าสบายใจนักในเวลาที่โชคชะตาของคนหมู่ใหญ่แขวนอยู่กับทางรอดที่มีข้อจำกัด ความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากการยื้อแย้งที่อาจกลายเป็นจุดไคลแมกซ์ (Climax) อีกจุดหนึ่งของเหตุการณ์ ถ้าเป็นภาษาเพลงก็คงเป็นช่วงสูงสุดของอารมณ์ (Crescendo) หลังจากทนรับสภาพความหวาดกลัวกับสิ่งที่มองไม่เห็น ความแร้นแค้นในการทำมาหากิน และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่สังคมโลกตกอยู่ในปฏิบัติการที่ไม่ต่างอะไรไปจากการให้ “คีโม” หรือเคมีบำบัด เพื่อควบคุมเซลล์มะเร็งร้ายซึ่งเซลล์ปกติต้องพลอยรับผลกระทบไปด้วย

​สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการจัดสรรทางรอดอันจำกัดหล่นเข้าไปอยู่ในกลไกตลาดที่เป็นตัวกำหนดความเป็นธรรมแบบทุนนิยม ความเหลื่อมล้ำที่ยังเป็นความปกติถาวร (Permanent normal) อาจนำไปสู่สิ่งร้ายที่สุดที่ไม่อาจคาดคิด และแม้ว่าทางรอดเหล่านั้นจะมีจำนวนจำกัดเฉพาะในระยะสั้น และผ่อนคลายมากขึ้นในระยะยาวเมื่อสถานการณ์คลี่คลายขึ้น แต่ความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์และความกว้างขวางของผลกระทบ เร่งด่วนขนาดที่การทดลองวัคซีนในปฏิบัติการหลายแห่งข้ามขั้นตอนการทดลองในสัตว์ไปสู่ขั้นตอนการทดลองในคนเลย ทำให้ใครๆ ก็อยากได้สิทธินั้นก่อน องค์การแรงงานโลกแห่งองค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าเพียงในระยะเวลาไม่กี่เดือนนับตั้งแต่โลกรู้จักกับไวรัสร้ายนี้ผู้คนทั่วโลกก็ตกงานแล้วกว่า 1.6 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งโลก[3]

​การจัดสรรในระดับระหว่างประเทศอาจจะไม่ง่ายและตรงไปตรงมาเท่าใดนัก เพราะอย่างไรเสีย โลกนี้ก็ไม่เลี้ยงอาหารกลางวันฟรีอยู่แล้ว แถมมือเย็นและมื้อดึกก็อาจแพงลิบลิ่วอีกด้วย แต่ก็ยังพอจัดการได้เพราะจำนวนประเทศมีเป็นหลักร้อย ผู้เข้าร่วมการเจรจายังพอพูดจากันรู้เรื่องและทำในห้องมิดชิด ร่วมกันแถลงข่าวออกมาคราวใดก็สวยงามไปเสียเกือบทุกครั้ง

​แต่การจัดการภายในประเทศตั้งแต่การกระจายการผลิต และการกระจายวัคซีนควรจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดความวุ่นวายน้อยที่สุดนี่สิ เป็นเรื่องที่ต้องเริ่มคิดวางแผน จากประสบการณ์ไวรัส H1N1 ที่มีผู้ป่วย 1.6 พันล้านคน ต้องใช้เวลา 12 เดือนในการผลิตวัคซีน 4.9 โดส[4]

​ด้วยข้อจำกัดของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยคงต้องต่อคิวรอรับวัคซีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้จะมีหลายหน่วยงานที่กำลังพยายามพัฒนาวัคซีนร่วมกับต่างประเทศเพื่อให้ไทยได้มีโอกาสลัดคิวได้เร็วขึ้น ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกคุณูปการหนึ่งของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ไทย

​ประเทศไทยมีประชากรวัยเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 11 ล้านคน (ร้อยละ 17) อายุ 15-59 ปี ประมาณ 43 ล้านคน (ร้อยละ 65) และ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 12 ล้านคน (ร้อยละ 18)[5] ควรแจกให้กลุ่มใดก่อน เช่นในแง่ความเปราะบางทางสุขภาพคนคงนึกถึงเด็กกับผู้สูงอายุ หรือผู้สูงอายุที่ติดเชื้อเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมาก หรือควรให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังเป็นกำลังหลักในการต่อสู้และควบคุมไวรัสนี้ หรือในแง่ของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจควรนึกถึงวัยแรงงานก่อนเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจคืนสู่ภาวะปกติและไม่พากันอดตาย หรือฆ่าตัวตาย หรือไปร้องเรียนหน้ากระทรวงการคลังรายวัน ให้เร็วที่สุด

​การกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งในเขตเมือง และเขตชนบท ทั้ง 50 เขต 180 แขวงในกรุงเทพฯ กับ 828 อำเภอ 9,625 ตำบล ในต่างจังหวัด จะทำอย่างไร หรือควรเริ่มจากจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง และในสภาพที่ผู้คนไม่ควรมารวมตัวกัน หรือต่อแถวติดๆ กัน การกระจายวัคซีนจะทำได้อย่างไร ซึ่งขึ้นกับวิธีการให้วัคซีนด้วยว่าที่สุดแล้วจะเป็นวัคซีนแบบฉีด หรือแบบหยอด และต้องใช้เวลาเท่าใดจึงจะทั่วถึง หน่วยงานใดบ้างต้องเข้ามาระดมช่วยกันในเรื่องนี้ เพราะเห็นตัวอย่างจากการแจกเงินเยียวยาแล้ว เราคงต้องปรับปรุงหลักคิด และหลักปฏิบัติกันอีกมาก

​ฉากที่ว่ามานี้ น่าจะเป็นฉากไคลแมกซ์ก่อนจบที่แท้จริง ที่จะต่อด้วยส่วนฉากคลี่คลายหลังไคลแมกซ์ (Anti-climax) ของเรื่อง ว่าไปตั้งแต่ความปกติใหม่ (New normal) ในสารพัดมิติ ที่หลายท่านหลายแหล่งพูดกันอย่างมากแล้วตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจเก็บไว้เป็นเอพพิโซด (Episode) 2, 3, 4 ของซีรีส์ COVID-19 ในครั้งนี้

บทความนี้เผยแพร่ในมติชนออนไลน์ วันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ทางเว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/article/news_2166102


  1. รายงานสุขภาพคนไทย. (เมษายน 2563). https://www.thaihealthreport.com/articleapr042020?fbclid=IwAR21ip701I7tezYhFBQx6fZTb2-ONY74aPhrZWAXvYj-43PU9uej8Dme9pA

  2. [2] Xinhuanet. (28 April 2020). Chinese COVID-19 vaccine set for human trials in Australia. www.xinhuanet.com/english/2020-04/28/c_139014641.htm

  3. International Labour Organization. (29 April 2020). ILO Monitor: COVID-19 and the world of work. Third edition (updated estimates and anlysis).

  4. Newsletter. (28 April 2020). Supply chains not ready for the distribution of COVID-19 vacccine. https://www.newsletter.co.uk/business/supply-chains-not-ready-distribution-covid-19-vaccine-2552281

  5. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2019). รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583.


Related Topics : โควิด

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333