บทความสั้น
วัยรุ่นและเยาวชน กับสื่อสังคมออนไลน์
Home / บทความสั้น

เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | กรกฎาคม 2563

ปัจจุบัน มากกว่าร้อยละ 90 ของวัยรุ่นและเยาวชนไทยสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่เป็นการเข้าถึงผ่านอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ที่มีความสะดวก สามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยกิจกรรมที่วัยรุ่นและเยาวชนใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดอันดับแรก (ถึงร้อยละ 98 หรือ เกือบทั้งหมดของวัยรุ่นและเยาวชนที่ใช้อินเทอร์เน็ต) เป็นในเรื่องการติดต่อสื่อสารบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social networks) แพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook Twitter Line และ Instagram เป็นต้น

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการใช้ชีวิตบนโลกสังคมออนไลน์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นของวัยรุ่นและเยาวชน เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในขณะเดียวกัน “โอกาส” ในที่นี้ คือ การที่วัยรุ่นและเยาวชนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและช่องทางการติดต่อสื่อสารบนโลกออนไลน์ในการหาความรู้และข้อมูลต่าง ๆ มาเพื่อพัฒนาเพิ่มศักยภาพและทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตและการทำงานในอนาคตได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี “ความเสี่ยง” และภัยออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึง คุณครูอาจารย์ ในสถานศึกษา ต้องใส่ใจเฝ้าระวัง พูดคุย ให้คำแนะนำและคำปรึกษาที่เหมาะสมแก่ลูกหลาน นักเรียน นักศึกษาที่เป็นวัยรุ่นและเยาวชน

หนึ่งในภัยออนไลน์ที่ละเลยไม่ได้ คือ เรื่องการกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ หรือ “cyberbullying” หรือ ตามที่บัญญัติเป็นภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสภาว่า "การระรานทางไซเบอร์" ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ ปี 2562 โดยศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ในกลุ่มนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลายของไทยกว่า 15,000 คน พบว่า ถึง 1 ใน 3 (ร้อยละ 31.1) เคยมีประสบการณ์ในการถูกกลั่นแกล้งหรือเป็นเหยื่อการระรานทางไซเบอร์ โดยที่ขณะเดียวกัน อีกประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 33.6) ก็รายงานว่าเคยมีประสบการณ์ในการเป็นผู้กระทำการระรานทางไซเบอร์ต่อผู้อื่นเสียเอง ข้อมูลการสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็ก วัยรุ่นและเยาวชนไทย มีความเสี่ยงที่ทุกฝ่ายต้องดูแล ทั้งในการตกเป็นเหยื่อ และการกระทำผิดในการระรานผู้อื่นทางไซเบอร์ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขาดทักษะความเข้าใจและความรู้เท่าทันในการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตที่เหมาะสม รวมถึง ประสบการณ์ชีวิตที่ยังค่อนข้างน้อยตามวัย

การศึกษาหนึ่งในประเทศอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ปี 2562 ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social media use) ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 13-16 ปี ที่มีต่อระดับสุขภาพจิตและความอยู่ดีมีสุข (หรือ mental health and wellbeing ในที่นี้ mental health ใช้ตัวชี้วัดสุขภาพจิต GHQ12 และ wellbeing ประกอบด้วย ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความพึงพอใจในชีวิต ความสุข ความรู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า และความกังวล) พบว่า ในภาพรวม การใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มส่งผลทางลบต่อตัวชี้วัดต่าง ๆ ทางสุขภาพจิตและความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่น โดยอิทธิพลนี้ ส่งผ่านปัจจัยคั่นกลาง (mediators) ที่สำคัญ 3 ตัวได้แก่ ประสบการณ์การถูกระรานทางไซเบอร์ (cyberbullying) การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ (sleep inadequacy) และการลดลงของการมีกิจกรรมทางกาย (physical inactivity) ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แยกตามเพศ ในกลุ่มวัยรุ่นหญิง พบว่า ประสบการณ์การถูกระรานทางไซเบอร์และการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ เป็นสองปัจจัยหลักสำคัญที่มีอิทธิพลและอธิบายผลเชิงลบของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อสุขภาพจิตและความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่นหญิงอย่างมาก ขณะที่ในกลุ่มวัยรุ่นชาย กลับไม่พบว่า 2 ปัจจัยนี้มีอิทธิพลที่ชัดเจนมากเท่าในเพศหญิง ขณะเดียวกันกลับพบว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มวัยรุ่นเพศชายมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีกิจกรรมทางกาย (ในขณะที่ สำหรับวัยรุ่นเพศหญิง เป็นความสัมพันธ์เชิงลบ) ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ อิทธิพลเชิงลบของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในกลุ่มวัยรุ่นเพศชายเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเฉพาะต่อตัวชี้วัดด้านสุขภาพจิต แต่ไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อตัวชี้วัดด้านความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่นเพศชาย

​ผลของการศึกษานี้ แม้จะไม่ได้มาจากกลุ่มตัวอย่างการศึกษากับวัยรุ่นและเยาวชนของไทย แต่ก็เป็นข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีประโยชน์ทำให้เห็นว่า สื่อสังคมออนไลน์เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่นและเยาวชน โดยที่ โอกาสและความเสี่ยงนี้มีความแตกต่างระหว่างเพศของวัยรุ่นและเยาวชนชายและหญิงด้วยเช่นกัน

ติดตามข้อมูล 12 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพวัยรุ่นและเยาวชนไทย ที่น่าสนใจเพิ่มเติมใน “สุขภาพคนไทย 2563” (www.thaihealthreport.com)


Viner, R., Gireesh, A., Stiglic, N., Hudson, L., Goddings, A., Ward, J., Nicholls, D. (2019). Roles of cyberbullying, sleep, and physical activity in mediating the effects of social media use on mental health and wellbeing among young people in England: a secondary analysis of longitudinal data. The Lancet Child & Adolescent Health. 3. 10.1016/S2352-4642(19)30186-5. 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333