บทความสั้น
โควิด-19 กับผลกระทบของธุรกิจไทย
Home / บทความสั้น

ภูเบศร์ สมุทรจักร คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | กรกฎาคม 2563

COVID-19 รุกรานมนุษยชาติแบบจู่โจมชนิดที่ประเทศต่างๆ ตั้งรับแทบไม่ทัน และจนถึงขณะนี้ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะอยู่ในขั้นที่ตั้งรับและควบคุมสถานการณ์ได้ ทั้งนี้รวมถึงประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจในทุกๆ ด้านอย่างสหรัฐอเมริกาก็ตาม ความรวดเร็วสูงสุดในการจู่โจมและการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้ออย่างฉับพลันโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ทำให้แพทย์ในหลายประเทศต้องเผชิญกับการตัดสินใจอันโหดร้ายและบีบคั้นเมื่อต้องเลือกว่าเครื่องช่วยหายใจอันมีจำกัดนี้จะต้องให้กับใคร เท่ากับเป็นการชี้ชะตาว่า “ใคร” ที่ควรรอด และ “ใคร” ที่ต้องถูกปล่อยให้รอคอยปาฏิหาริย์

​ประเทศไทยนับว่าโชคดีที่สามารถตั้งสติและสร้างกลไกการควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ตั้งแต่ต้นมือทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เคยขึ้นไปสูงสุด 188 คน ลดลงเป็น 0 ภายในระยะเวลา 5 เดือน และหลังจากนั้นก็เป็นตัวเลขหลักหน่วยมาโดยตลอด เป็นเหตุให้รัฐบาลประกาศคลายล๊อคมากขึ้นเป็นลำดับ พร้อมกับมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยให้ทั้งการดำเนินชีวิต และการทำมาหากินกลับสู่สภาวะปกติให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามชีวิตวิถีใหม่ (New normal) ที่ว่านี้ได้ทำให้การทำมาหากินแบบเดิมหลายอย่างประสบกับความยากลำบากอย่างมาก เพราะมีธุรกิจหลายประเภทไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องอาศัยการรวมกลุ่มเพื่อผลิต ปฏิบัติ พบปะ และสัมผัสทั้งหลาย ขณะนี้มีรายงานแล้วว่าพนักงานสตาร์ทอัพตกงานแล้วกว่า 70,000 คนทั่วโลกตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ของรัฐบาลไทยเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 6 แสนล้านบาทที่เงินก้อนใหญ่พุ่งเป้าไปที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ปรากฏว่ามีการกระจายไปยังธุรกิจต่างๆ ไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่แบงก์ยังลังเลว่าเมื่ออนุมัติไปแล้ว SMEs เหล่านั้นจะยังไปรอดอยู่หรือไม่เพราะวิถีการบริโภคของลูกค้าได้เปลี่ยนไปเสียแล้ว และไม่แน่ใจว่า SMEs ที่ขอกู้จะสามารถปรับตัวและรับมือได้มากน้อยเพียงใด ตอนนี้การตัดสินใจเลือกว่าใครควรได้รับการต่อลมหายใจทางธุรกิจกำลังตกอยู่ที่นายแบงก์ที่หากติดสินใจผิดพลาดจะเป็นการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขนาดมหึมาที่จะฉุดเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้ การอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำครั้งนี้จะต้องอนุมัติควบคู่ไปกับข้อแนะนำหรือแม้กระทั่งลงมือลงแรงช่วยในการปรับตัวเพื่อให้เป็น SMEs วิถีใหม่ที่สามารถตอบสนองชีวิตวิถีใหม่และอยู่รอดได้ในระยะยาวด้วย


บรรณานุกรม

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (7 เมษายน 2563). ข่าวธนาคารแห่งประเทศไทย, ฉบับที่ 20/2563 สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n2063.aspx 

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563). ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สกส.1. 2/2563 เรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. สืบค้นเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563 จาก https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2563/ThaiPDF/25630100.pdf 

Loten, A. (July 8, 2020). Nearly 70,000 tech startup employees have lost their jobs since March, The Wall Street Journal. Retrieved on July 13, 2020, from https://www.wsj.com/articles/nearly-70-000-tech-startup-employees-have-lost-their-jobs-since-march-11594167238

 

Stiglitz, J. (July 6, 2020). Priorities for the Covid-19 economy, Social Europe. Retrieved on July 13, 2020, from https://www.socialeurope.eu/priorities-for-the-covid-19-economy 


Related Topics :

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333