บทความสั้น
วัณโรค น่ากลัวไม่แพ้โควิด-19
Home / บทความสั้น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | กรกฎาคม 2563

วัณโรค เป็นหนึ่งในโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกนับล้านคนในแต่ละปี เป็นหนึ่งในสาเหตุการตายใน 10 ลำดับแรกของโลก โดยในปี 2561 มีผู้ป่วยวัณโรคถึง 10 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1.5 ล้านคน จนองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงกับประกาศว่า “วัณโรคเป็นภาวะฉุกเฉินที่คุกคามมนุษยชาติ” โดยองค์การอนามัยโลกจัดให้ไทย เป็น 1 ใน 14 ประเทศของโลก ที่กำลังเผชิญปัญหาทั้งวัณโรค (TB) วัณโรคที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (TB/HIV) และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (MDR-TB) ดังนั้นวัณโรคจึงเป็นปัญหาสาธารณสุขและความท้าทายยิ่งของประเทศไทย โดยในปี  2562 ไทยมีผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 103,600 คน 

​วัณโรค หรือที่เรียกว่า โรคทีบี [TB (Tuberculosis)] เป็นโรคติดต่อเรื้อรัง เกิดจากแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ที่สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย เช่น ปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่จะเกิดที่ปอด เรียกว่า วัณโรคปอด ติดต่อทางการหายใจ ไอ จาม  การรักษาโรคต้องใช้เวลานานอาจถึงเป็นปี หรือ 2 ปี เชื้อวัณโรคสามารถอยู่ในร่างกายผู้ป่วยได้เป็นเวลานาน โดยไม่แสดงอาการ เรียกว่าวัณโรคระยะแฝง ทั่วโลกมีผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคระยะแฝงอยู่ประมาณ 2,000 ล้านคน โดยสถิติเฉลี่ยแล้ว 10% ของวัณโรคระยะแฝงมีโอกาสลุกลามไปเป็นวัณโรคปอดภายใน 10 ปี

​แผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการลดอัตราความชุกของโรคจาก 150:100,000 ในปี 2538 เหลือ 76:100,000 ในปี 2544 แต่อัตราความชุกของวัณโรคก็กลับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เนื่องจากการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ จนในปี 2558 องค์การอนามัยโลกประเมินปัญหาวัณโรค ในปี 2016 - 2020 และจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ปัญหาวัณโรคสูงที่สุดในโลก ใน 3 กลุ่ม คือกลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคสูง กลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีสูง และกลุ่มประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง โดยมีอัตราของวัณโรครายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 1.3 เท่า และมีผู้ป่วยเสียชีวิตถึง 12,000 ราย 

​ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจัดให้ปัญหาวัณโรคเป็นระเบียบวาระสำคัญระดับชาติ โดยเมื่อ 12 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 โดยตั้งเป้าหมายว่า วัณโรคจะไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขอีกภายในปี 2578 สอดคล้องกับองค์การอนามัยโลกที่กำหนดยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค โดยมีเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรค ให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรโลก ภายในปี 2578

​ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความฉบับเต็มได้ในสถานการณ์เด่นเรื่อง “จับตาวัณโรคระบาดหนัก เร่งตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง” ในรายงานสุขภาพคนไทยฉบับปี 2562 ครับ


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333