บทความสั้น
ผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มเปราะบาง
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | สิงหาคม 2563

ปี 2020 ธนาคารโลกประเมินว่าประชากร 40-60 ล้านคนจะตกอยู่ในภาวะยากจนสุดขีด (Extreme poverty) โดยมีรายได้ต่ำกว่า 1.90 USD ต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 ทำให้อัตราความยากจนทั่วโลกสูงขึ้นจาก 0.3 เป็น 0.7 แตะระดับ 9% ในปี 2020 [1]  ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกกลุ่ม และรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดกับกลุ่มเปราะบาง 

TDRI สำรวจผลกระทบด้านสังคม ในกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ได้แก่ เด็กแรกเกิด-6 ขวบ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยเรื้อรัง พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนเปราะบางได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดและมาตรการควบคุมของภาครัฐ ซึ่งพบมากทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาที่พบมากที่สุดคือ การเดินทางเข้ารับบริการทางการแพทย์ยากลำบากมากขึ้น เพราะโดยสารรถรับจ้างแทนรถสาธารณะ สถานพยาบาลบางแห่งปิดให้บริการ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะที่ครัวเรือนที่มีเด็กเล็กจะมีปัญหามาก เพราะไม่มีเวลาดูแล เนื่องจากโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กปิดให้บริการ นอกจากนี้ ยังพบว่า ครอบครัวกลุ่มเปราะบางในเขตเมืองได้รับผลกระทบมากกว่าชนบท โดยเฉพาะคนจนเมือง เพราะในชนบทมีอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่เข้มแข็ง มีการติดตามเยี่ยมบ้านและให้กำลังใจผู้คน ให้ความช่วยเหลือปัจจัยสี่ที่ขาดแคลน ขณะที่เขตเมือง กลไกการดูแลสุขภาพที่เข้าถึงยากลำบาก ดังนั้น ในเขตเมืองจะมี 2 กลุ่มที่ต้องเน้นหนักเป็นพิเศษ คือ คนไร้บ้าน และชุมชนแออัด ที่มีความเสี่ยงในเรื่องความสัมพันธภาพในครอบครัวจากการมีฐานะเศรษฐกิจไม่ดี 

ขณะที่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร กล่าวถึงกลุ่มเปราะบาง 7 กลุ่มสำคัญ ที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน  ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มที่มีสภาวะยากจน ขาดแคลน แร้นแค้นอยู่แล้ว ซึ่งมีการลงทะเบียนเอาไว้จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ กลุ่มที่ 2 ผู้สูงอายุและผู้พิการ กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วย เช่น เบาหวาน ความดัน กลุ่มที่ 4 ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่เข้าไม่ถึงสิทธิ์ เช่น เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือต่างๆ กลุ่มที่ 6 กลุ่มคนไร้สถานะ แรงงานต่างด้าว และกลุ่มที่ 7 กลุ่มชาติพันธุ์ตามชายขอบ ในเขตเมือง เขตอุตสาหกรรมหรือจังหวัดชายแดน [2]

​ที่ปรากฏชัดเจน คือ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พบว่า ในครัวเรือนที่มีกลุ่มเปราะบาง มีรายได้ลดลงมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนที่รายได้ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนมีสมาชิกทำงานรับจ้างไม่ประจำ และต้องดูแลคนเปราะบางในครอบครัว ขณะเดียวกัน พบว่า ครัวเรือนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 ซึ่งอาจเกิดจากครัวเรือนต้องดูแลเด็กเล็กซึ่งไม่สามารถไปสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนได้ ส่วนครัวเรือนต้องดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลด้วยรถสาธารณะ จำเป็นต้องใช้บริการรถรับจ้าง ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัวจะส่งผลไปถึงสุขภาพจิต สามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายเช่นเดียวกับวิฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2541 [2] 


ภาพประกอบ www.freepik.com

[1]  World Bank. Poverty. Apr 16, 2020. https://www.worldbank.org/en/topic/poverty/overview
]2]  5 มิถุนายน 2563. 7 กลุ่มเปราะบาง” รับผลกระทบเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19. https://www.hfocus.org/content/2020/06/1949


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333