บทความสั้น
วัยรุ่นไทยมีเพื่อนสนิทน้อยลง ครอบครัวจึงยิ่งสำคัญ
Home / บทความสั้น

มนสิการ กาญจนะจิตรา คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | สิงหาคม 2563

สังคมทุกวันนี้มีแนวโน้มต่างคนต่างอยู่มากขึ้น มีความเป็นปัจเจกกันมากขึ้น จากการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนในประเทศไทย ปี 2551 และ 2558 พบแนวโน้มชัดเจนว่าสัดส่วนนักเรียนมัธยมที่ไม่มีเพื่อนสนิทเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 3.5 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 6.6 ในปี 2558

นอกจากนั้น การสำรวจในเด็กมัธยมพบว่า ความรู้สึกว่าเพื่อนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีน้ำใจต่อกัน มีแนวโน้มที่ลดลง ในปี 2551 ร้อยละ 78 รู้สึกเพื่อนช่วยเหลือและมีน้ำใจ ในขณะที่ปี 2558 สัดส่วนนี้ลดลงไปเหลือร้อยละ 61 


 

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของสังคมที่ก้าวไปสู่ความเป็นปัจเจกมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ และสมาร์ทโฟน ที่เข้ามาแทนการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ความสัมพันธ์กับเพื่อนของวัยรุ่นและเยาวชนไทยมีความห่างเหินกันมากขึ้น 

ในทุกยุคทุกสมัย เป็นที่รู้กันดีว่าเพื่อนเป็นส่วนสำคัญของชีวิตวัยรุ่น ตั้งแต่ช่วงอายุ 13 ปี วัยรุ่นจะเริ่มกระบวนการเติบโตจากเด็กเป็นผู้ใหญ่ เป็นช่วงที่หลายคนมักเรียกว่าช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อ เพราะเป็นช่วงเวลาที่วัยรุ่นจะพัฒนาตัวตนและค้นหาอัตลักษณ์ของตนเอง การเลือกคบกลุ่มเพื่อนและการรู้สึกได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการเติบโตของวัยรุ่น 

แต่เมื่อสังคมในปัจจุบันมีความเป็นปัจเจกมากขึ้นเช่นนี้ บทบาทของครอบครัวจึงจำเป็นต้องเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นเสาหลักในการเติบโตและพัฒนาตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเข้าใจในธรรมชาติและความต้องการของบุตรหลานในวัยนี้ ต้องเข้าใจว่าวัยรุ่นและเยาวชนเป็นวัยที่เริ่มมีความคิดความอ่าน ต้องการแสดงความคิดเห็น และที่สำคัญ คือ ต้องการการยอมรับ หากครอบครัวรับฟังความคิดเห็นของเขา จะช่วยสร้างความรู้สึกว่าอย่างน้อยพ่อแม่ยังฟังเขา เขามีตัวตนและเป็นส่วนสำคัญของครอบครัว ถึงแม้เขาจะไม่มีเพื่อนสนิท ไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน การมีที่ยืนในครอบครัวจะช่วยให้มีความมั่นคงทางจิตใจ ที่จะช่วยให้วัยรุ่นและเยาวชนพัฒนาและเติบโตต่อไปได้

คำถามก็คือ ทุกวันนี้ครอบครัวไทยรับฟังวัยรุ่นและเยาวชนบ้างหรือไม่? ครอบครัวไทยเปิดโอกาสให้วัยรุ่นและเยาวชนพูดคุย ปรึกษาหารือ หรือร่วมตัดสินใจในประเด็นสำคัญของครอบครัวมากน้อยเพียงใด? การสำรวจสภาวะทางสังคม วัฒนธรรม และสุขภาพจิต ปี 2561 พบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว วัยรุ่นและเยาวชนไม่ถึง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้พูดคุยปรึกษาหารือ และร่วมติดสินใจในครอบครัวเป็นประจำ ซึ่งถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่ต่ำอยู่มาก

ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ ครอบครัวจึงเป็นเสาหลักที่สำคัญมากยิ่งขึ้นที่ทุกฝ่ายต้องให้การสนับสนุน การมีเครื่องมือเพื่อช่วยแนะนำพ่อแม่ในการพูดคุยให้คำปรึกษากับลูกในประเด็นต่าง ๆ เป็นตัวอย่างของแนวทางส่งเสริมการพูดคุยในบ้าน ที่จะช่วยสานสัมพันธ์ครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกหลานของเราเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตได้


created by pch.vector - www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333