บทความสั้น
“การพนัน” กับวัยรุ่นและเยาวชน
Home / บทความสั้น

เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | กันยายน 2563

"การพนัน" เป็นพฤติกรรมเสี่ยงทางสังคมประเด็นหนึ่งที่สำคัญในทุกกลุ่มวัยของประชากร รวมถึง วัยรุ่นและเยาวชน ความอยากรู้อยากลอง ต้องการเสี่ยงโชค อยากได้เงิน เล่นตามเพื่อนหรือคนชวน หรือแม้แต่เพื่อความตื่นเต้นเพลิดเพลิน เป็นสาเหตุปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้หลายคนเริ่มเล่นการพนันในครั้งแรก และนำไปสู่การเล่นในครั้งต่อ ๆ ไป การพนันในที่นี้ มีความหมายที่ครอบคลุมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน พนันไพ่ พนันทายผลฟุตบอล น้ำเต้าปูปลา ไฮโลโปปั่น ไก่ชน พนันมวยหรือมวยตู้ ม้าแข่งตู้ม้าตู้เกม หรือแม้แต่การทายผลกีฬา e-sport เป็นต้น

รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน (Center for Gambling Studies หรือ CGS) [1]  ประมาณการณ์ไว้ว่ามีวัยรุ่นและเยาวชนไทยอายุ 15-25 ปี ที่เล่นการพนันมากถึง 3.8 ล้านคน (จำแนกเป็น 0.73 ล้านคนในช่วงอายุ 15-18 ปี และ 3.05 ล้านคนในช่วงอายุ 19-25 ปี) มากที่สุดเป็นการเล่นสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามด้วยหวยใต้ดิน และการทายผลฟุตบอล ตามลำดับ ในจำนวนประมาณการณ์วัยรุ่นและเยาวชนที่เล่นการพนันที่มากถึงเกือบ 4 ล้านคนนี้ กว่า 6.7 แสนคน เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่า "นักพนันหน้าใหม่" หรือกลุ่มที่เพิ่งเคยเล่นพนันครั้งแรกในรอบ 12 เดือนก่อนการสำรวจ[2] 

ที่มา รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562 และ สถานการณ์การพนันกลุ่มเด็กและเยาวชน ปี 2562

ในภาพรวมของคนไทยทุกกลุ่มอายุที่มีประสบการณ์เคยเล่นการพนันตามข้อค้นพบในรายงานฉบับนี้ อายุเฉลี่ยของการเล่นพนันเป็นครั้งแรกสำหรับผู้ชายนั้นอยู่ที่อายุ 22 ปี และผู้หญิงอยู่ที่ 24 ปี (โดยร้อยละ 50.2 ของผู้ที่มีประสบการณ์เล่นการพนัน ได้เริ่มเล่นพนันครั้งแรกในช่วงก่อนอายุ 20 ปี) สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมเสี่ยงในการเล่นการพนันของคนไทยนั้น ก็มีความคล้ายคลึงกับพฤติกรรมเสี่ยงในด้านอื่น ทั้งการทดลองเริ่มสูบบุหรี่ หรือเริ่มดื่มสุราที่ส่วนใหญ่ก็มีประสบการณ์หรือเริ่มทดลองครั้งแรกในช่วงการเป็นวัยรุ่นและเยาวชน

ที่มา รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562 

​สำหรับวัยรุ่นและเยาวชนในกลุ่มอายุที่ต่ำลงมา  การศึกษาสถานการณ์การเล่นพนันของนักเรียนมัธยมต้น (อายุประมาณ 12 ถึง 14 ปี) โดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB)[3]  พบว่า มีเยาวชนในช่วงอายุนี้ที่เล่นพนันที่มีการใช้เงินเป็นเดิมพันในรอบ 1 เดือนก่อนการสำรวจ ถึงร้อยละ 15.3 โดยประเภทการพนันที่เยาวชนมัธยมต้นเล่นมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ น้ำเต้าปูปลา บิงโกกินเงิน และการเล่นไพ่กินเงิน ตามลำดับ

ที่มา สถานการณ์การเล่นการพนันของนักเรียนมัธยมต้น และผลกระทบ (2561)

ข้อมูลตัวชี้วัดและสถิติจากการสำรวจและการศึกษาเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ปัญหาการพนัน ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการทดลองเล่น ไปสู่การเล่นพนันในประเภทการพนันที่หลากหลายขึ้น และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ปัญหาการติดการพนันนั้น  เป็นความเสี่ยงทางสังคมที่อยู่ใกล้ตัววัยรุ่นและเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งครอบครัวผู้ปกครองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักให้ความสำคัญ
ผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูล 12 ตัวชี้วัดสุขภาพของวัยรุ่นและเยาวชนไทยที่น่าสนใจเพิ่มเติม ได้ในรายงานสุขภาพคนไทย 2563 : )

[1] ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. (2562). รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562 [online; http://www.gamblingstudy-th.org/document_book/160/1/3/CGS-conference-2562/; เข้าถึง 1 กันยายน 2563]

[2] ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน. (2562). สถานการณ์การพนันกลุ่มเด็กและเยาวชน ปี 2562 [online; http://www.gamblingstudy-th.org/document_book/161/1/1/youth-gambling-2562/; เข้าถึง 1 กันยายน 2563]

[3]  ธน หาพิพัฒน์. (2561). สถานการณ์การเล่นการพนันของนักเรียนมัธยมต้น และผลกระทบ. ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนานสังคมและธุรกิจ (SAB) [online; http://www.gamblingstudy-th.org/document_book/146/1/3/%E0%B8%B1youth-gambling-2018/; เข้าถึง 2 กันยายน 2563]


ภาพประกอบโดย  rawpixel.com  - www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333