บทความสั้น
โรคซึมเศร้าของวัยรุ่นและเยาวชน
Home / บทความสั้น

มนสิการ กาญจนะจิตรา คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | ตุลาคม 2563

ทุกวันนี้ โรคซึมเศร้าเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น สังคมไทยเริ่มมีความตื่นตัวในประเด็นของสุขภาพจิตและเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการมีสุขภาพและชีวิตที่ดีมากขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าการเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกกลุ่มอายุ รวมถึงวัยรุ่นและเยาวชน ที่ในช่วงระยะเวลาเพียง 5 ปี จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอายุ 15-24 ปีที่เข้าถึงบริการ เพิ่มขึ้นราว 7 เท่า จาก 18,628 คน ในปี 2556 เป็น 131,260 คนในปี 2561

ถึงแม้การเข้าถึงบริการจะดีขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก แต่ความครอบคลุมของการเข้าถึงบริการยังคงต่ำอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการไม่ทราบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในวัยรุ่น ที่อาการของโรคซึมเศร้ามีความแตกต่างกับอาการโรคซึมเศร้าของผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งตัววัยรุ่นเอง ไม่ทราบว่าตนเป็นโรคซึมเศร้า

​อาการของวัยรุ่นที่เป็นโรคซึมเศร้าที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ เช่น วัยรุ่นจะไม่ได้รู้สึกแค่เพียงความเจ็บปวดทางอารมณ์และจิตใจเท่านั้น แต่จะรู้สึกเจ็บปวดทางร่างกายด้วย วัยรุ่นที่เป็นซึมเศร้ามักจะรายงานถึงอาการปวดหัว ปวดท้อง หรืออาการไม่สบายตัวร่วมด้วย และหากตรวจร่างกายจะไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ

ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมีอารมณ์เศร้าและหมดหวังอย่างท่วมท้น แต่สำหรับวัยรุ่นที่เป็นซึมเศร้าบางคน จะเป็นอารมณ์หงุดหงิดรำคาญ ใจร้อนมากกว่าปกติ และมีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งแตกต่างกับความเข้าใจของโรคซึมเศร้าโดยทั่วไป นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ที่เป็นซึมเศร้ามักจะเก็บตัว แยกตัวจากสังคม แต่สำหรับวัยรุ่น อาจแยกตัวจากคนเพียงบางกลุ่ม หรือเป็นลักษณะการเปลี่ยนกลุ่มเพื่อนแทน

หากท่านคิดว่าตนเองหรือลูกหลานมีอาการดังกล่าว ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาและการรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ

ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเยาวชน และตัวชี้วัดสุขภาพอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ในรายงานสุขภาพคนไทย 2563 ค่ะ


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333