บทความสั้น
การศึกษาไทย หลังโควิด-19
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | ตุลาคม 2563

การระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้เด็กทั่วโลกกว่าร้อยละ 91.3 ทุกระดับการศึกษาจำเป็นต้องออกจากโรงเรียน[1] ส่วนประเทศไทยมีเด็กกว่า 15 ล้านคน ที่ต้องหยุดเรียน ซึ่งเป็นเวลา 1 ใน 3 ของปีการศึกษา[2]   ในขณะเดียวกันโควิด 19 ยังส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาและพัฒนาการของนักเรียนนักศึกษาจากการปิดสถานศึกษาอีกด้วย รวมไปถึงผลกระทบทางสังคม ทั้งด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ ตลอดจนสุขภาวะของเด็กทั้งทางกายและสุขภาพจิตอีกด้วย 

ที่ผ่านมา การจัดระบบการศึกษาช่วงโควิด 19 ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งความพร้อมด้านเทคโนโลยี ความพร้อมของครูในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ โดยเฉพาะโรงเรียนในต่างจังหวัด และครูที่ไม่คุ้นชินกับ การใช้เทคโนโลยีและโปรแกรมต่างๆ นักเรียนไม่มีอุปกรณ์ รวมทั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี และหากรัฐจะจัดสรรเงินช่วยเหลือค่าคอมพิวเตอร์ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ยากจนคนละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณ 2,800 ล้านบาท การเรียนออนไลน์หรือเรียนทางไกล จึงอาจไม่ใช่คำตอบเดียวของการการศึกษาหลังโควิด19 แต่ก็เป็นทางเลือกสำคัญที่สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก การจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาออฟไลน์ควบคู่กับการศึกษาออนไลน์ให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ จึงเป็นแนวทางที่น่าจะดำเนินการหลังโควิด 19 เพราะแม้ว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นทางออกการศึกษา แต่ผลการวิจัยโรงเรียนที่สอนเฉพาะออนไลน์ในสหรัฐอเมริกา (virtual charter school) ยังพบว่า ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับการศึกษาแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์กับเรียนในห้องเรียน[3]

บทบาทของครู จากที่เคยเป็นผู้ให้ความรู้ อาจต้องปรับบทบาทใหม่เป็นผู้สร้างให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ (facilitator) และเป็นผู้สนับสนุนให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองให้มีคุณค่าต่อสังคม เพราะพื้นที่การเรียนรู้ ไม่ได้อยู่เฉพาะในโรงเรียนอีกต่อไป  

ขณะเดียวกัน พ่อแม่ที่เคยคาดหวังกับครูและโรงเรียนว่าจะให้การศึกษาเด็กได้ดีกว่า แต่หลังจากโควิด บทบาทของพ่อแม่ในด้านการเรียนรู้ของลูกจะต้องเพิ่มมากขึ้นกว่าครูและโรงเรียน ต้องส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก ปลูกฝังการอ่านและทักษะชีวิต พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีของลูก เรียนรู้และทำความเข้าใจวิธีคิดของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม นอกจากนี้ ต้องจัดหาพื้นที่ส่วนตัวสำหรับเด็ก สำหรับการเรียนรู้หรือทำการบ้าน เช่น ห้องที่มีคอมพิวเตอร์สำหรับเรียนออนไลน์ เป็นต้น

   

ภาพประกอบ www.freepik.com


[1]  ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค. (2020). ผลกระทบของ COVID-19 ต่อระบบการศึกษาของโลกและประเทศไทยในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์. เข้าถึงจากhttps://thaipublica.org/2020/04/19-economists-with-covid-19-15/
[2]  https://www.kenan-asia.org/th/covid-19-education-impact/
[3]  Brian Gill et al. (2015). A report of the national study of online charter schools. Inside Online Charter Schools. Retrieved from file:///C:/Users/kanyapat/Downloads/inside_online_charter_schools.pdf


Related Topics : การศึกษา

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333