บทความสั้น
ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย
Home / บทความสั้น

กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มกราคม 2564

 

“ช้าง” เป็นสัตว์ประจำชาติไทย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และประเพณีของไทยมาช้านาน เป็นสัตว์ที่มีอายุยืน ได้รับการยกย่องให้เป็นสัตว์คู่บารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากในสมัยก่อนในการทำศึกสงคราม พระมหากษัตริย์จะใช้ช้างเป็นพาหนะในการทำศึก

จากสถิติที่จดทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ในประเทศไทยมีช้างเลี้ยงกว่า 3,700 เชือก[1] ส่วนช้างป่านั้นไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด แต่ได้มีการประมาณว่ามีราว 3,000-3,500 เชือก ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติของบ้านเรา

ในช่วงนี้เรามักจะได้ยินข่าวว่าช้างป่าทำร้ายคนบาดเจ็บและเสียชีวิตค่อนข้างบ่อย เช่น
•    คนถูกช้างทำร้ายเสียชีวิต ในป่าใกล้เขตอุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น จ.จันทบุรี[2]
•    หายจากบ้าน 2 วัน เจอเป็นศพกลางป่าสลักพระ ถูกช้างทำร้ายดับ จ.กาญจนบุรี[3]
•    ช้างป่าตกใจเสียงทารกร้อง ทำร้ายพ่อ แม่ ลูก บาดเจ็บ 3 คน จ.ระยอง[4]
•    พระออกบิณฑบาตถูกโขลงช้างป่ารุมทำร้ายจนร่างฉีกขาด มรณภาพคาที่ จ.ชลบุรี[5]

มีการศึกษาหลายชิ้นที่ศึกษาประเด็นเหล่านี้ พบว่า เดิมช้างป่าอาศัยอยู่ป่า แต่ด้วยปัจจุบันที่มีปัญหาเริ่มขาดแคลนพืช อาหาร แหล่งน้ำ พื้นที่เป็นภูเขา มีความลาดชันสูง ทำให้สภาพถิ่นอาศัยที่เหมาะสมของช้างป่ามีขนาดลดลงจากเดิม นอกจากนี้แล้วผืนป่าซึ่งเป็นถิ่นที่อาศัยของช้างป่าไม่เชื่อมโยงกัน ถูกแบ่งแยก ตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชน การขยายพื้นที่เกษตร การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคมที่ผ่านป่าสมบูรณ์ การก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่อาศัยใกล้ชิดตามแนวขอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาที่สำคัญและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี[6]

จะเห็นได้ว่าเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า เป็นภัยคุกคามต่อทั้งความอยู่รอดของช้างป่าและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ งานวิจัยของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเหตุการณ์ที่คนและช้างป่าบาดเจ็บเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีช้างป่าเสียชีวิตจากความขัดแย้งสะสม 25 ตัว และคนเสียชีวิต 45 คน[7] นอกจากนี้ยังมีความเสียหายพืชผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด สัปปะรด มันสำปะหลัง ทุเรียน ที่เกษตรกรชาวไร่ปลูกไว้อีกด้วย

ขอเปิดเรื่องราวนี้ไว้เพียงเท่านี้ก่อน เรื่องราวที่มาที่ไป และแนวทางการแก้ปัญหาในเรื่อง “คนกับช้างป่า” จะเป็นอย่างไร ขอเชิญชวนท่านติดตามอ่านได้ใน 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ ของรายสุขภาพคนไทย 2564 ที่จะออกเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2564 นี้คะ


[1] นฤมล ทับปาน. (16 เมษายน 2563). ‘ช้างไทย’ ผู้ประสบภัยโควิด-19. กรุงเทพธุรกิจ. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/1804
[2] ช้างป่าแก่งหางแมวดุ กระทืบลุงวัย 61 จนร่างแหลกตาย ใกล้ อช.เขา 15 ชั้น. (1 มกราคม 2564). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/east/2004875
[3] หาย 2 วัน พบศพป้าถูกช้างป่าทำร้าย นอนตายกลางป่าสลักพระ ที่เมืองกาญจน์. (2 พฤศจิกายน 2563). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/central/1967626
[4] ช้างป่าเขาชะเมา ตกใจเสียงทารกร้อง ทำร้ายพ่อ แม่ ลูก บาดเจ็บ 3. (7 กันยายน 2563). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/east/1925295
[5] ช้างป่ารุมทำร้ายพระ ขณะออกบิณฑบาต ฉีกร่างจนมรณภาพคาสวนยางที่ชลบุรี. (23 ตุลาคม 2563). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/east/1960010
[6] รุกเคลียร์ปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่า. (14 มีนาคม 2563). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/1794669
[7] พิเชฐ นุ่นโต, ชุติอร ซาวินี, มัทนา ศรีกระจ่าง, ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ. 2561. เสียงคน เสียงช้างป่า: แนวโน้มการตอบสนองของชุมชนต่อการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในประเทศไทย. กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น, กรุงเทพฯ.


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333