บทความสั้น
คนภาคเหนือครองแชมป์ฆ่าตัวตายสูงสุด
Home / บทความสั้น

กัญญา อภิพรชัยสกุล คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | มกราคม 2564

ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าคนไทยมีการฆ่าตัวตายประมาณปีละมากกว่า 4,000 คน เฉลี่ย 6.64 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 12 คนต่อวัน โดยในจำนวนนี้อัตราการฆ่าสำเร็จจะพบในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง ประมาณ 3-4 เท่า เลยทีเดียว
 

ที่มา: รายงานอัตราการฆ่าตัวตายประเทศไทย ปี 2553 - 2562, ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ
โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารรสุข​

 

เมื่อพิจารณารายจังหวัดพบว่าจังหวัดที่อยู่เขตภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดน่านมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดอยู่ที่ 12.54 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือ จังหวัดแพร่ และลำพูน ตามลำดับ นอกจาก 3 ลำดับที่กล่าวมาแล้วยังพบว่า จังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่าจาก 10 จังหวัดที่มีอัตราฆ่าตัวตายสูงที่สุดพบว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ภาคเหนือถึง 6 จังหวัด ภาคอื่น ๆ มีบ้าง ได้แก่ ภาคใต้ 3 จังหวัด คือ จังหวัดพัทลุง ตรัง ชุมพร และภาคตะวันออก 1 จังหวัด คือจังหวัดจันทบุรี 

ที่มา: รายงานอัตราการฆ่าตัวตายประเทศไทย 2562, ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ
โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารรสุข    

 

สำหรับปัจจัยหรือสาเหตุหลักที่ทำให้คนฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ร้อยละ 48.7 มาจากความน้อยใจ ถูกดุด่า ถูกตำหนิ และการการทะเลาะกับคนใกล้ชิด รองลงมาคือ ความรักและความหึงหวง ร้อยละ 22.9 และการดื่มสุรา ร้อยละ 19.6 นอกจากนี้ยังพบสาเหตุอื่น ๆ อีกได้แก่ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายตนเองซ้ำ ต้องการคนเอาใจใส่ดูแล มีอาการเจ็บป่วยทางจิต และโรคซึมเศร้า      

 

ที่มา : กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, สาเหตุที่ทำให้อยากตายมากที่สุด.
สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2564; จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=29978  

จะเห็นได้ว่าสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายมาจากบุคคลใกล้ชิดรอบข้าง ดังนั้นวิธีป้องกันคือหมั่นคอยสังเกตุคนในครอบครัวของท่าน หากพบว่ามีอาการเศร้า เบื่อหน่าย แยกตัวออกห่างจากคนในบ้าน แยกตัวออกจากสังคม นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต อาการเหล่านี้เป็นอาการบ่งชี้ของโรคซึมเศร้า ทั้งยังเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้รีบเข้าไปพูดคุยพร้อมรับฟังด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ ชวนพูดชวนคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ ไม่สื่อสารเชิงลบ เพราะการรับฟังอย่างใส่ใจนั้น เป็นวิธีการที่สำคัญและมีประสิทธิภาพอย่างมาก

ท่านสามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็ม “ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่” ได้ในรายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2564 ซึ่งจะออกเร็ว ๆ นี้  

หากท่านต้องการปรึกษาท่านสามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323นอกจากนี้หากท่านไม่กล้าโทร. ยังสามารถแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai) ได้อีกด้วย


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333