บทความสั้น
ความยากจนของ คนไทย
Home / บทความสั้น

กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | กุมภาพันธ์ 2564

มีคำถามว่า ความยากจน คืออะไร? ใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินว่ายากจนหรือไม่ยากจน หรือวัดจากรายได้ ค่าใช้จ่ายเป็นเส้นแบ่งความยากจน?

เรามักจะเห็นรัฐบาลในหลายยุคหลายสมัยพยายามแก้ปัญหาความยากจน ด้วยการออกนโยบายใช้งบมหาศาล ถึงขั้นกำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่เราก็ยังพบคนยากจนอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับประเทศไทยนั้น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ได้วัดความยากจนแบบสัมบูรณ์เช่นเดียวกับธนาคารโลก ด้วยการคำนวณเส้นความยากจนหรือรายจ่ายขั้นต่ำที่สุดเพื่อการบริโภคขั้นพื้นฐาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นความยากจนด้านอาหาร และเส้นความยากจนที่ไม่ใช่อาหารขั้นพื้นฐาน (ประกอบไปด้วยสินค้า 9 กลุ่ม[1]) โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเส้นความยากจนนั้นยกระดับขึ้นทุก ๆ ปี จำนวนคนจน และสัดส่วนคนจนลดลงทุกปีเช่นเดียวกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้ได้ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยที่ในปี 2562 ลดสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.24[2]  ซึ่งถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาความยากจนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่กำหนดให้เป้าหมายลดสัดส่วนคนจนให้เหลือร้อยละ 6.5 ภายในปี 2564[3]  

ภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับความยากจนของคนไทย

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและของประเทศไทยก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 นับได้ว่าเป็นไปได้ด้วยดี อย่างประเทศไทยเองที่พึ่งพาธุรกิจการท่องเที่ยวก็ได้รับประโยชน์จากธุรกิจนี้ มีหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น มัคคุเทศก์ รถนำเที่ยว ที่พักโรงแรม ร้านขายสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจการบิน แต่เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ในเกือบทุกประเทศต้องปิดประเทศ ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างเป็นปกติ ทำให้เกือบทุกสาขาอาชีพ ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงกัน บางสายอาชีพตกงานชนิดที่เรียกว่าสายฟ้าแล่บ เช่น แอร์โฮสเตส นักบิน แม้ว่าการระบาดจะดำเนินมาราว 1 ปีแล้วก็ยังไม่มีท่าทีว่าจะกลับมาเหมือนสถานการณ์ปกติได้ง่าย ๆ

การสำรวจคนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19[4]  ได้สะท้อนว่าคนจนเมืองได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของรัฐ ทำให้ถูกนายจ้างให้หยุดงานหรือเลิกจ้าง ลดเวลาทำงานลง ซึ่งส่งผลทำให้รายได้ของคนกลุ่มนี้ลดลง โดยพบว่าคนจนเมืองมากกว่าครึ่งมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ยังพบว่าคนจนที่ประกอบอาชีพอิสระไม่มีการจ้างงาน ส่วนผู้ค้าขายก็ขายของได้น้อยลง นอกจากนี้ราว 1 ใน 3 ต้องกู้เงินหรือนำของใช้ในบ้านไปจำนำเพื่อนำเงินมาใช้ในชีวิตประจำวัน[5]

ท่านสามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ใน “สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ” รายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2564 ซึ่งจะออกเร็ว ๆ นี้​


[1]  สินค้า 9 กลุ่ม ได้แก่ ค่าที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ค่าจ้างบุคคลที่ให้บริการครัวเรือน ค่าเสื้อผ้า ค่ารองเท้า ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางและการสื่อสาร และค่าใช้จ่ายการศึกษา
[2]  “ความยากจน” คืออะไร?. (15 สิงหาคม 2555). [เสด-ถะ-สาด].com. สืบค้นจาก http://setthasat.com/2012/08/15/what-is-poverty/
[3]  สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2559). แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564. ม.ป.ท.: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.
[4] 19 ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
[5] อนุชิต ไกรวิจิตร. (4 เมษายน 2563). เปิดผลสำรวจคนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19. The Standard. สืบค้นจาก https://thestandard.co/open-survey-on-poor-people-in-coronavirus-crisis/

ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333