บทความสั้น
​ฝุ่นร้าย PM 2.5 ค่าเกินมาตรฐานในทุกจังหวัดของไทย
Home / บทความสั้น

มนสิการ กาญจนะจิตรา คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | กุมภาพันธ์ 2564

สิ่งแวดล้อมกับสุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ สิ่งแวดล้อมที่สะอาด มีคุณภาพ ย่อมส่งผลให้สุขภาพของคนดีตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน หากสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เต็มไปด้วยมลพิษ ย่อมทำให้สุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายย่ำแย่ตามไปด้วย

อากาศเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต แต่มนุษย์เป็นตัวการสำคัญในการสร้างมลพิษทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นควันจากการคมนาคม อุตสาหกรรม และการเผาไหม้เพื่อการเกษตร ผลผลิตของกิจกรรมเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดฝุ่นละอองที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์เอง

ฝุ่นละอองที่กลายเป็นชื่อที่คุ้นหูของคนไทยในหลายปีที่ผ่านมา คือ ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นฝุ่นขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เล็กกว่า 1 ใน  25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผม ขนาดที่เล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่านี้ มีผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เพราะสามารถแทรกซึมไปในกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้

ในวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ขึ้นสูง บางคนสามารถรู้สึกแสบตา แสบจมูก แสบคอ คันผิว ได้ทันที แต่นั่นเป็นเพียงผลกระทบส่วนหนึ่งของฝุ่นร้ายนี้เท่านั้น

ฝุ่น PM 2.5 นี้ จะไปกระตุ้นให้คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ และหอบหืด มีอาการกำเริบขึ้นมาได้ และยิ่งไปกว่านั้น ผลของการสัมผัสฝุ่นจิ๋วในระยะยาว สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอดและโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดได้ นำไปสู่การเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด โรคเส้นเลือดสมองตีบ โรคมะเร็งปอด และโรคปอดอักเสบ

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่ามาตรฐานสำหรับคุณภาพอากาศที่ดี โดยกำหนดว่าค่าเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง ควรไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยใน 1 ปี ไม่ควรเกิน 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยรายปีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่าค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ นั่นคือ ไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยที่ถือได้ว่ามีคุณภาพอากาศที่ดีเลย ยิ่งไปกว่านั้น 10 จังหวัดที่มีค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นร้ายสูงที่สุด มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า

คุณภาพอากาศของประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตถึงเพียงนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนจะต้องเอาจริงเอาจังกับการจัดการคุณภาพของสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย การมีอากาศสะอาดหายใจควรจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทุกคน เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน

สำหรับข้อมูลสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ต่อสุขภาพของคนในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย รอติดตามได้ใน “ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่” ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 ซึ่งจะออกเร็ว ๆ นี้


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333