บทความสั้น
ม็อบการเมืองคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563
Home / บทความสั้น

กาญจนา เทียนลาย คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | กุมภาพันธ์ 2564

ในปี 2563 ที่ผ่านมา สถานการณ์ที่ร้อนระอุที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศจีน และระบาดไปทั่วโลกแล้วในขณะนี้ ช่วงเวลาที่มีการระบาดในประเทศไทยในราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 มาจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีผู้ป่วยสะสมจำนวน 25,951 คน เสียชีวิต 83 คนแล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน เรื่องการเมืองเป็นประเด็นร้อนแรงอีกประเด็นหนึ่งที่เกิดคู่ขนานกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 มีกระแสในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทางทวิตเตอร์ #Saveอนาคตใหม่ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง และต่อมาได้เกิดการชุมนุมที่เรียกว่า “แฟลชม็อบ” ขึ้น เป็นการชุมนุมแบบไม่ยืดเยื้อของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยประเด็นหลักของการชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยการร่วมกันจัดกิจกรรมชูป้าย ร้องเพลง จุดเทียนและเปิดไฟจากโทรศัพท์มือถือของนักเรียนมัธยม

แต่ต่อมา การชุมนุมนี้หยุดชะงักลงเมื่อการระบาดของโควิด-19 แผ่ขยายวงกว้างขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการปิดเมือง แต่เมื่อมาตราการดังกล่าวเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว ก็มีการชุมนุมเคลื่อนไหวอีกครั้งทั้งในและนอกสถานศึกษา โดยมีประเด็นข้อเรียกร้องที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 กลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้นัดชุมนุมในชื่อกิจกรรมว่า “ไม่ทนอีกต่อไป” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากนั้น การชุมนุมลักษณะดังกล่าวดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์ ด้วยการสร้างกระแสสังคมที่สามารถเข้าถึงได้ในพื้นที่สื่อออนไลน์

เป็นที่น่าสนใจว่า การชุมนุมรวมตัวกันในครั้งนี้ได้เห็นภาพนักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการของประชาธิปไตยของประเทศกันมากขึ้นและรวดเร็ว โดยใช้สื่อออนไลน์เข้ามาเป็นสื่อกลางในการเคลื่อนไหว ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของรัฐบาล ผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความเห็นต่าง

เหตุการณ์การชุมนุมประท้วงดำเนินต่อมาตลอดทั้งปี 2563 รวมทั้งมีการขยายบทบาทและผลักดันข้อเรียกร้องในการปฏิรูปการเมืองมาอย่างต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2564) และยังไม่มีท่าทีว่าจะหาทางออกร่วมกันได้ระหว่างรัฐบาลและผู้ชุมนุมประท้วง

ท่านสามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มเรื่องการเมืองได้ใน “สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ” รายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2564 ซึ่งจะออกเร็ว ๆ นี้

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333