บทความสั้น
เกือบครึ่งหนึ่งของคนไทยมีสุขภาพดี…. จริงหรือ ?
Home / บทความสั้น

กัญญา อภิพรชัยสกุล คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | มีนาคม 2564

บทความก่อนหน้านี้ผู้เขียนได้เขียนเกี่ยวกับสถานการณ์สุขภาพคนไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพจิตที่สถานการณ์ประเทศไทยมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าคนไทยมีการฆ่าตัวตายประมาณปีละมากกว่า 4,000 คน เฉลี่ย 6.64 ต่อแสนประชากร หรือประมาณ 12 คนต่อวัน สำหรับด้านสุขภาพกายผู้เขียนได้เขียนถึงสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (non-communicable diseases: NCDs)[1] ซึ่งคนไทยมีแนวโน้มสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงขึ้น และยังพบอีกว่าคนภาคเหนือที่อยู่ในวัยทำงานมีโรคเรื้อรังประจำตัวสูงกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งข้อมูลทั้งด้านสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ผู้เขียนนำมาเขียนส่วนใหญ่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์

จากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ผ่านมา มีการเก็บข้อมูลประเมินสถานะสุขภาพคนไทย เป็นการถามข้อมูลด้านสุขภาพโดยให้ประเมินตนเองถามว่า “ท่านเห็นว่าสุขภาพของตนเองเป็นอย่างไร” พบว่า โดยภาพรวมคนไทยเกือบครึ่งหนึ่งคิดว่าตนเองมีสุขภาพดี และกว่าร้อยละ 7 คิดว่าตนเองสุขภาพดีมาก เมื่อพิจารณารายภาคพบว่าคนใต้คิดว่าตนเองมีสุขภาพดีมากกว่าภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ชายใต้คิดว่าตนเองสุขภาพดีกว่าผู้หญิง  

จากข้อมูลที่ย้อนแย้งกันระหว่างสถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความคิดเห็นด้านสุขภาพกลับเห็นว่าตนเองมีสุขภาพดีดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนนึกถึงทฤษฎี Defense Mechanisms[2] ของซิกมันด์ ฟรอยด์ ซึ่งทฤษฎีได้กล่าวไว้ว่ามนุษย์เราจะมีกลไกในการปกป้องตนเอง จากกลไกในการปกป้องตนเองดังกล่าวอาจทำให้คำตอบที่ได้จากการถามความคิดเห็นว่า “ท่านเห็นว่าสุขภาพของตนเองเป็นอย่างไร” คำตอบที่ได้อาจเป็นคำตอบเพื่อปกป้องตัวเองว่า สุขภาพดีก็เป็นได้   

         

ดังนั้นในการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นการถามความคิดเห็นดังกล่าวข้างต้น อาจจะต้องมีเครื่องมือที่ใช้วัดผลด้วย เช่น  เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความดัน เป็นต้น หรือหากเป็นการถามความคิดเห็นที่เกี่ยวกับสมรรถภาพของตนเอง เช่น ความสามารถในการเคลื่อนไหว ควรเก็บข้อมูลพร้อมไปกับการทดสอบสมรรถภาพของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริง และเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ให้ข้อมูลที่สามาถนำไปปรับการดูแลสุขภาพของตนเองได้ นอกจากนี้ผู้กำหนดนโยบายเองสามารถที่จะออกนโยบายได้ตรงกับคนไทยได้มากที่สุดอีกด้วย

           

ท่านสามารถติดตามอ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับ “ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่” ได้ในรายงานสุขภาพคนไทย ฉบับปี 2564 ซึ่งจะออกเร็วๆ นี้ 


[1] โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2563 จาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1371

[2] กลไกปกป้องตนเองคืออะไร.สืบค้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 จาก  https://www.unlockmen.com/defense-mechanisms/

ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333