บทความสั้น
สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ: กรณีสหรัฐอเมริกา
Home / บทความสั้น

กัญญาพัชร สุทธิเกษม คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | มีนาคม 2564

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ประเทศที่มีการระบาดรุนแรงและรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆ น่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา นับถึงปัจจุบันสหรัฐมีผู้ป่วยโควิด-19 สะสม จำนวน 30.3 ล้านคน และเสียชีวิต 5.5 แสนคน (ณ วันที่ 29 มีนาคม 2564) รัฐแคลิฟอร์เนีย มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุด รองลงมา คือ เท็กซัส ฟลอริดา และนิวยอร์ก[1]

​ในสหรัฐอเมริกา มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 20 มกราคม เป็นชายอายุ 35 ปี ในเขตสโนโฮมิช (Snohomish) มลรัฐวอชิงตัน ซึ่งเดินทางไปเยี่ยมญาติที่เมืองอู่ฮั่นและกลับมาในวันที่ 15 มกราคม[2] จากนั้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จึงได้มีประกาศห้ามการเดินทางไป และมาจากประเทศจีน สหรัฐอเมริการายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 คนแรกเป็นหญิงวัย 57 ปี ที่เขตซานตา คลารา (Santa Clara) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐอเมริกาแซงหน้าทั้งจีนและอิตาลี กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ต่อมาในเดือนเมษายนได้มีรายงานการแพร่ระบาดไปทั่วทั้ง 50 รัฐซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวสหรัฐขึ้นอันดับเป็นประเทศแรกที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คนภายใน 1 วัน

​ความล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล โดยเฉพาะท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ความสำคัญกับการสวมหน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง การควบคุมการเดินทาง การเตรียมระบบสาธารณสุข ชุดเครื่องมือการทดสอบ ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสี่ยงภัย ปัญหาการกระจายเครื่องช่วยหายใจจากคลังอุปกรณ์ยุทธศาสตร์แห่งชาติ (Strategic National Stockpile)[3] รวมทั้งความล่าช้าในการปรับปรุงและเผยแพร่แนวทางการตรวจเชื้อในกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมทั้งการที่ทรัมป์ไม่ให้ความร่วมมือในการสวมหน้ากากอนามัยซึ่งทำให้คนไม่เห็นความสำคัญแม้จะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดแต่ได้ผลมากในการควบคุมโรค ความยืดเยื้อของวิกฤตโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาทำให้มีคนว่างงานไม่น้อยกว่า 20.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 1929 ทั้งยังสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมอเมริกันจากการที่คนผิวดำและคนเชื้อสายละติน มีสัดส่วนของการติดเชื้อสูงกว่า และทำให้เกิดการเหยียดผิวต่อชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย

บทเรียนที่จะได้เรียนรู้จากกรณีของสหรัฐ ขอชวนติดตามเรื่องราวและรายละเอียดได้จากเรื่องพิเศษประจำฉบับ “โควิด-19: มหันตภัยร้ายเขย่าโลก” ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 เร็วๆ นี้



[1] Coronavirus in the U.S.: Latest Map and Case Count. The New York Times. (March 30, 2021).  https://www.nytimes.com/interactive/2020/us/coronavirus-us-cases.html

[2] Holshue, M. L., DeBolt, C., Lindquist, S., Lofy, K. H., Wiesman, J., Bruce, H., ... & Pillai, S. K. (2020). First case of 2019 novel coronavirus in the United States. New England Journal of Medicine.

[3] Lancet, T. (2020). COVID-19 in the USA: a question of time. Lancet (London, England), 395(10232), 1229.

ภาพประกอบ www.freepik.com


Related Topics : โควิด

รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333