บทความสั้น
ผู้สูงอายุและคนพิการ ในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคของไทย
Home / บทความสั้น

เฉลิมพล แจ่มจันทร์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | มีนาคม 2564

ตัวชี้วัดสุขภาพคนไทย 2564 ฉบับที่กำลังจะออกจากโรงพิมพ์ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ นำเสนอข้อมูลสถานการณ์สุขภาพคนไทยผ่านตัวเลขและข้อมูลสถิติในหัวเรื่อง "ตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่" ซึ่งหนึ่งในหมวดตัวชี้วัดที่นำเสนอ คือ หมวด "ประชากรกลุ่มเปราะบาง" ที่อ้างอิงคำนิยามจากการศึกษาของบวรศรม ลีระพันธ์ และคณะ (2559)[1] ที่ให้ความหมายไว้ในภาพรวม ถึงกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบาง ความด้อยโอกาส หรือความเป็นชายขอบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สถานะทางกฎหมาย ทางสุขภาพ หรือ แม้แต่วัย ซึ่งในที่นี้ ผู้สูงอายุถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางด้วยเช่นกัน​

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือ complete-aged society ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จากการคาดประมาณจำนวนประชากรไทยในปี 2563 สัดส่วนนี้ในภาพรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 18.1 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคจะพบว่า สถานการณ์การสูงวัยของประชากรไทยมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดถึงร้อยละ 23.0 และ 20.4 ตามลำดับ กล่าวได้ว่าเป็น 2 ภูมิภาคของประเทศที่เป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่กรุงเทพฯ ภาคใต้ รวมถึง ภาคกลาง มีสัดส่วนประชากรสูงอายุที่ต่ำกว่า ที่ประมาณร้อยละ 14-16 ของประชากรในภูมิภาค

การมีอายุที่สูงขึ้นเข้าสู่ในช่วงสูงวัย (60 ปีขึ้นไป) อาจไม่ได้เป็นความเปราะบางโดยตัวของการสูงวัยเอง แต่เป็นปัจจัยหรือสาเหตุที่นำไปสู่ความเปราะบางในด้านอื่นๆ ที่ตามมา เช่น ทางด้านเศรษฐกิจจากความสามารถในการทำงานหารายได้ที่ลดลงของผู้สูงอายุ ทางด้านสังคมจากการถูกแบ่งแยกหรือกีดกันทางสังคมจากปัจจัยต่างๆ ที่เป็น "วยาคติ" หรือ ทางด้านสุขภาพจากแนวโน้มการมีภาวะพึ่งพิงหรือความพิการที่สูงขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจความพิการครั้งล่าสุดในปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ  ก็มีประเด็นที่น่าสนใจที่พบว่า  สัดส่วนของประชากรที่มีความพิการในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคจากผลการสำรวจ มีแนวโน้มมีความสัมพันธ์ผันแปรตามสัดส่วนประชากรสูงอายุของแต่ละภูมิภาค โดยภูมิภาคที่มีสัดส่วนประชากรที่มีความพิการสูงที่สุด ได้แก่ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร้อยละ 7.0 และ 6.5 ตามลำดับ รองลงมา คือ ภาคใต้และภาคกลาง (รวมกทม.) ที่ร้อยละ 5.3 ละ 4.3 ตามลำดับ (ภาพรวมทั่วประเทศ สัดส่วนของประชากรที่มีความพิการคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของประชากรทั้งหมด) จะเห็นว่าสัดส่วนของประชากรที่มีความพิการมีความเกี่ยวข้อง หรือสัมพันธ์กับสัดส่วนของประชากรสูงอายุในแต่ละภูมิภาคค่อนข้างชัดเจน กล่าวคือ ถ้าสัดส่วนประชากรสูงอายุในภูมิภาคนั้นมีค่อนข้างสูงสัดส่วนของประชากรที่มีความพิการก็มีแนวโน้มสูงตามไปด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาผลการสำรวจความพิการของประชากรไทยจำแนกตามกลุ่มอายุ ก็พบว่ายืนยันตามข้อสังเกตข้างต้น โดยในกลุ่มประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป (หรือกลุ่มผู้สูงอายุ) มีสัดส่วนของผู้ที่มีความพิการมากถึงร้อยละ 20.6 หรือ คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุ

ข้อมูลทั้งสองส่วนข้างต้นนี้ (สัดส่วนประชากรสูงอายุและสัดส่วนประชากรที่มีความพิการในแต่ละภูมิภาค) แสดงให้เห็นว่า ความเปราะบางที่เป็นผลจากอายุที่เพิ่มขึ้นของประชากรเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาสุขภาพและความพิการที่มีแนวโน้มเกิดเพิ่มขึ้นตามวัยสูงขึ้น ซึ่งยังไม่รวมถึงความเปราะบางในด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาทั้งในเรื่องรายได้และปัญหาความยากจนจากการที่ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองได้ การขาดผู้ดูแลที่เหมาะสมของกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความพิการและอยู่ในภาวะพึ่งพิง เป็นต้น โดยสถานการณ์ในเรื่องนี้มีระดับความรุนแรงและความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ภูมิภาคของประเทศ

ท่านที่สนใจสามารถติดตามเนื้อหาและรายละเอียดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน 10 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 เร็วๆ นี้


[1] บวรศรม ลีระพันธ์ และคณะ (2559) แนวคิดและแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางในประเทศไทย วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 หน้า 442-464

ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333