บทความสั้น
ดื่มแล้วขับกับอุบัติเหตุบนท้องถนน
Home / บทความสั้น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | มีนาคม 2564

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยในปี 2561 ว่าไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 32.7 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และอยู่ในอันดับ 9 จาก 175 ประเทศทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้เสียชีวิต 22,491 ราย เฉลี่ยวันละ 60 ราย ส่วนใหญ่เป็นช่วงอายุ 15-29 ปี ซึ่งเป็นวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังแรงงานที่สำคัญ ในจำนวนนี้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิตมากที่สุดถึงร้อยละ 74 หรือประมาณ 16,600 รายต่อปี (WHO : Global Status Report On Road Safety 2018) ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่าในช่วงเทศกาลสำคัญ ได้แก่ ปีใหม่และสงกรานต์ (ปี 2559-2562) อัตราการเกิดอุบัติเหตุจะสูงกว่าช่วงเวลาปกติถึงร้อยละ 146 (เฉลี่ยปกติเกิดเหตุวันละ 191 ครั้ง แต่ช่วงเทศกาลสูงถึงเฉลี่ยวันละ 470 ครั้ง) โดยมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายเฉลี่ยวันละ 2,354 ราย ซึ่งมากกว่าช่วงปกติร้อยละ 136 (บาดเจ็บและเสียชีวิตปกติวันละ 998 ราย) สำหรับในเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 ช่วง 7 วันอันตราย (11-17 เมษายน 2562) มีผู้บาดเจ็บ 30,745 รายและเสียชีวิต 517 ราย โดยยานพาหนะที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุดคือ “รถจักรยานยนต์” โดยมีจำนวนผู้บาดเจ็บกว่า 24,377 ราย คิดเป็นร้อยละ 79.3 จากจำนวนยานพาหนะทั้งหมด โดย “ดื่มแล้วขับ” เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติกว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการเกิดเหตุทั้งหมด

ภาครัฐได้พยายามอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์เมาแล้วขับตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เพื่ออุดช่องว่างและยกระดับการป้องปรามพฤติกรรมการดื่มแล้วขับของผู้ขับขี่ยานพาหนะ ทั้งการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ, การปรับโทษหากปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์, การกำหนดเงื่อนไขในประกันภาคสมัครใจ หากผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุมีระดับแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะไม่ได้รับการคุ้นครองจากประกันภัยภาคสมัครใจ แต่ยังมีมีช่องว่างในการดำเนินการหลายประการ เช่น การเจาะเลือดในผู้ขับขี่ที่หมดสติ แพทย์จะไม่สามารถทำได้ทันทีหากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ป่วย เป็นต้น ในปี 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ เพื่อปิดช่องว่างเรื่องดื่มแล้วขับใน 3 ประเด็นได้แก่ 1) มาตรการในการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่อยู่ในภาวะที่ไม่อาจให้ความยินยอมได้ 2) ห้ามศาลรอการลงโทษผู้กระทำผิดซ้ำในข้อหาเมาแล้วขับและกำหนดบทเพิ่มโทษของผู้กระทำผิด และ 3) แก้ไขอัตราโทษปรับในกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก ให้สอดคล้องกับความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา

ประเทศไทยยังต้องพัฒนาระบบการจัดการอีกมากเพื่อแก้ไขปัญหาเมาแล้วขับ รัฐบาลต้องเห็นความสำคัญกับปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เกาะติด รวดเร็ว และใช้ข้อมูลต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ และสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ทำงานได้อย่างคล่องตัวและบูรณาการร่วมกันมากขึ้น อีกทั้งกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นได้จัดการตนเองได้ตามความเหมาะสม การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่น่าจะเป็นตัวเสริมที่สำคัญที่จะช่วยจัดการกับปัญหาดื่มแล้วขับได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการอยู่ใกล้กับปัญหา และอาศัยกลไกท้องถิ่นช่วยในการจัดการได้อย่างเป็นรูปธรรม

*ท่านที่ต้องการอ่านบทความฉบับเต็มเกี่ยวกับเรื่องดื่มแล้วขับ สามารถติดตามได้จาก รายงานสุขภาพคนไทยปี 2564 ครับ


ภาพประกอบ www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333