บทความสั้น
ปัญหาเด็กหายในไทย ถึงเวลาต้องปรับปรุงระบบการแก้ไขปัญหา
Home / บทความสั้น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | เมษายน 2564

ปัญหาเด็กหายในประเทศไทย มีสาเหตุหลักมาจากการหนีออกจากบ้าน ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางของสถาบันครอบครัว อันเป็นสถาบันหลักพื้นฐานของสังคม รองลงมา คือ เด็กกลุ่มที่มีพัฒนาการทางสมองช้า พิการทางสมอง พิการทางสติปัญญา พิการทางจิต และพลัดหลงแล้วกลับไม่ถูก ความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาเด็กหายในประเทศไทยเปรียบเสมือนคลื่นกระทบฝั่ง ในยามที่มีคดีใหญ่เกิดขึ้น สังคมก็จะตื่นตัวต่อปัญหาอย่างมาก แต่เมื่อใดที่ข่าวเงียบหายไป ระบบในการแก้ไขปัญหาก็ยังคงล่าช้าเช่นเดิม โดยไม่ปรากฏแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดการกับปัญหา โดยเฉพาะการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่โดยตรงในการสืบสวนติดตามคนหาย 

​ในปี 2563 มีการรับแจ้งเด็กหายในไทยทั้งสิ้น 224 ราย โดยเป็นเด็กผู้ชาย 86 ราย เด็กผู้หญิง 138 ราย พบตัวแล้ว 204 ราย อยู่ระหว่างการติดตาม 20 ราย มีอัตราการพบตัวที่ร้อยละ 91[1]   สาเหตุที่เด็กหายตัวออกจากบ้านมากที่สุด คือ เด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน (Run away) ในปี 2563 มีเด็กที่สมัครใจหนีออกจากบ้านในไทยทั้งสิ้น 177 ราย คิดเป็นร้อยละ 77 ของสาเหตุเด็กหายทุกประเภท รองลงมา คือ เด็กกลุ่มที่มีพัฒนาการทางสมองช้า พิการทางสมอง พิการทางสติปัญญา พิการทางจิต พลัดหลงแล้วกลับไม่ถูก 27 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของสาเหตุเด็กหายทุกประเภท[2]  ส่วนการลักพาตัวเด็กมีบ้างแต่ไม่มากนักในแต่ละปี ซึ่งในทางสากลจะมีหลักคิดว่า ไม่ว่าเด็กจะหายไปจากสาเหตุใด ให้ประเมินว่าอาจถูกลักพาตัว หรือมีอันตรายไว้ก่อนเสมอ เพื่อให้เกิดการติดตามอย่างทันท่วงที 

เด็กกลุ่มเสี่ยงที่สมัครใจหนีออกจากบ้านจะอยู่ในช่วงอายุ 10-15 ปีมากที่สุด[3]  เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อยู่ในวัยที่ติดเพื่อน เข้าถึงเทคโนโลยี ปัจจัยหลักมาจากปัญหาภายในครอบครัว ทั้งความรุนแรงจากทางร่ายกาย เช่น การทำร้ายทุบตี ลงโทษด้วยความรุนแรง และทั้งความรุนแรงทางจิตใจ เช่น การดุด่าว่ากล่าว อีกปัจจัยหนึ่ง คือ การถูกชักชวนโดยคนที่เด็กรู้จักในโลกออนไลน์ ซึ่งเด็กในวัยนี้เป็นวัยอยากรู้อยากลอง ในขณะที่ผู้ปกครองบางรายไม่มีเวลาในการดูแลบุตรหลาน หรือมีความแตกต่างของช่วงวัย เช่น ครอบครัวที่ส่งบุตรหลานไปให้ผู้สูงอายุ ปู่ย่าตายายเลี้ยงดู หากครอบครัวมีพื้นฐานปัญหาเดิมอยู่ก่อนแล้ว จะทำให้เด็กตัดสินใจหนีออกจากบ้านได้ง่ายขึ้น เพราะไม่มีสิ่งยึดโยงหรือสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเพียงพอในครอบครัว 


การรับมือต่อปัญหาเด็กหายและคนหายในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การดำเนินการกรณีต่างๆ เป็นไปตามกระแสสังคม ต้นทางของกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ มักปฏิเสธการรับแจ้งความ โดยอ้างว่ายังหายตัวไปไม่ครบ 24 ชั่วโมง การประวิงเวลาดังกล่าวทำให้เกิดความสูญเสีย จากความไม่ทันท่วงที ในด้านโครงสร้างการจัดการปัญหาคนหายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในรูปแบบของคณะกรรมการบริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (คบคน.ตร.) ทำหน้าที่กำกับดูแลเชิงนโยบาย แต่ไม่มีบทบาทมากนัก มีการประชุมหารือกันปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ส่วนในระดับปฏิบัติการ ยังไม่มีหน่วยงานโดยตรงในการสืบสวนติดตามคนหาย มีเพียงกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์และกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี ที่ช่วยสืบสวนติดตามเด็กหายบ้างในกรณีที่คาบเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์หรือเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดทางอาญา นอกจากกระบวนการรับแจ้งความคนหายแล้ว การประสานงานฝ่ายสืบสวนเพื่อลงพื้นที่สืบสวนติดตามคนหายอย่างทันท่วงที นับว่าเป็นกระบวนการสำคัญ ที่พนักงานสอบสวนควรดำเนินการประสานงานหลังการรับแจ้งความทันที แต่มักพบปัญหาว่า เมื่อครอบครัวคนหายแจ้งความคนหาย มักได้รับเพียงสำเนาการแจ้งความเพียงแผ่นเดียว โดยไม่มีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการสืบสวนและประชาสัมพันธ์ เอ็นจีโอและสื่อมวลชนในประเทศไทย จึงมีบทบาทเป็นตัวกลางในการประสานความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นช่องว่างของหน่วยงานราชการที่ขาดประสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล ประสานงาน สืบเสาะข้อเท็จจริง ทำการประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อให้เกิดกระบวนการติดตามหาคนหายขึ้น


ท่านที่ต้องการอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถติดตามได้จาก รายงานสุขภาพคนไทยปี 2564 ซึ่งจะออกเร็ว ๆ นี้


[1]  สถิติการรับแจ้งผู้สูญหาย. (ม.ป.ป.) Backtohome. สืบค้นจาก  http://web.backtohome.org/missing_charts.php 
[2]  เรื่องเดียวกัน. สถิติการรับแจ้งผู้สูญหาย. 
[3]  อุทาหรณ์เด็กหาย EP.1 บทเรียนกระเตื้องสังคม เจาะมูลเหตุไฉนยอดหายพุ่ง?. (14 สิงหาคม 2559). ไทยรัฐออนไลน์. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/local/687931 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333