บทความสั้น
“มิติด้านสุขภาพ” ของสังคมสูงวัยในประเทศไทย
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | ตุลาคม 2566

      ในปี 2565 สัดส่วนผู้สูงอายุของไทยได้เพิ่มเป็นประมาณร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” แล้ว และในปี 2583 ผู้สูงอายุไทยจะเพิ่มเป็นร้อยละ 31.4 ของประชากรทั้งหมด 

     การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ได้ส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ที่เป็นนัยสำคัญต่อระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ โดยปัญหาสุขภาพหลักของผู้สูงอายุมักจะเป็น “ภาวะที่เกิดจากโรคเรื้อรัง” “โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะรับสัมผัส”  และ “โรคความผิดปกติทางระบบประสาท”

     จากปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ เราจึงต้องพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้น เป้าหมายในการลดปัญหาด้านสุขภาพของประเทศไทยคือ “การมุ่งเน้นให้ ประชากรสามารถช่วยเหลือดูแลตนเองในยามสูงวัยให้ได้นานที่สุด” รวมไปถึง “การดูแลและลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ”

     การที่จะทำให้คนทุกวัยมีความสามารถในการดูแลตนเอง และได้รับการดูแลรักษาด้วยระบบบริการสุขภาพที่เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ จะต้องเตรียมความพร้อมด้วยการ ส่งเสริมสร้างแรงจูงใจด้วยนโยบายที่ส่งเสริมสุขภาพ หรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการยกระดับการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

     ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ตระหนักถึงแนวโน้มดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ผู้สูงอายุที่เน้นการพัฒนาศักยภาพและทักษะผู้สูงอายุ มุ่งไปสู่ “การสูงวัยอย่างมีสุขภาวะ” และ “การสูงวัยอย่างมีพลัง” เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่โครงสร้างสังคมสูงวัยที่มีความมั่นคงในทุก ๆ ด้านในระยะยาวต่อไป

     ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2565” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย” 
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30 วิสุขภาพคนไทย)

ข้อมูลอ้างอิง


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333