บทความสั้น
PM 2.5 : ผลกระทบลูกโซ่จากอุบัติภัย
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | ตุลาคม 2566

     ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่เป็นอุบัติภัยที่เราต้องเผชิญหลายเหตุการณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ “โกดังเก็บพลุระเบิดที่มูโนะ จังหวัดนราธิวาส” ในเดือนกรกฎาคม จนไปถึงเหตุการณ์ “ตลาดน้ำ 4 ภาค ที่พัทยาเกิดเหตุเพลิงไหม้” ในเดือนกันยายน เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศและเกิดฝุ่น PM 2.5 ด้วยกันทั้งสิ้น

      จากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า “PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้” โดยมีแหล่งกำเนิดจากภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การขนส่ง จนไปถึงการเผาไหม้จากอุบัติภัย โดยเมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดฝุ่นควันขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่า 1 ใน  25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมของมนุษย์

      “PM 2.5 ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก” แต่เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นที่เล็กมาก ร่างกายไม่สามารถดักจับและขับออกได้ทางการป้องกันเชิงกายภาพ ทำให้ PM 2.5 สามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้ “อวัยวะภายในเกิดการอักเสบและสามารถก่อให้เกิดโรคทางสมอง” อย่างโรคพาร์กินสัน จนไปถึงสร้างผลกระทบต่อสุขภาพจิตเนื่องจากความเครียดในการใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย

      นอกจากผลกระทบโดยตรงของ PM 2.5 เองแล้ว “อนุภาคที่เล็กยังเป็นที่ยึดเกาะของมลพิษอื่น ๆ” อย่างโลหะหนัก สารโพลีไซคลิกอะโรมาติดไฮโดรคาร์บอน(PAHs) ที่ได้จากการเผาไหม้เครื่องยนต์หรือแหล่งก่อมลพิษ และเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดเป็น “สารก่อมะเร็ง” และ “ส่งผลต่อสุขภาพระยะยาว”

      เห็นได้ว่า “การเกิดอุบัติภัย” ไม่ได้สร้างความเสียหายแค่ในช่วงเวลาขณะนั้น แต่ยังคงสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปจนเกิดเป็นมลภาวะต่าง ๆ ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ไปจนถึงการสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชากร ตลอดจนเศรษฐกิจและอาจส่งผลต่อในระยะยาวในด้านอื่น ๆ ด้วย

   ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2565” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย” 
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30 วิสุขภาพคนไทย)

ข้อมูลอ้างอิง


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333