บทความสั้น
ชาวกรุงเทพฯ ยังการ์ดสูง หลังระบาดระลอกใหม่
Home / บทความสั้น

มนสิการ กาญจนะจิตรา คณะทำงานรายงานสุขภาพคนไทย
ตัวชี้วัดสุขภาพ | เมษายน 2564

.

ทุกครั้งที่ต้องออกจากบ้าน ต้องพบเจอผู้คนหลากหลาย เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเรามีโอกาสติดเชื้อมากน้อยแค่ไหน เราไม่มีทางรู้ว่าคนที่เราไปเจอมีความเสี่ยงสูงหรือไม่ แม้แต่เราเองหากติดเชื้อแล้วอาจไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อก็เป็นได้ เพราะไม่แสดงอาการ ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการรับเชื้อหรือแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่ออกจากบ้าน จึงเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุด ณ ขณะนี้

การใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้อง คือ การใส่ให้หน้ากากอนามัยคลุมตั้งแต่จมูก ปาก และคาง หลายคนชอบใส่ไว้ใต้จมูก เพราะหายใจสะดวกกว่า หรือบางคนชอบดึงไว้ใต้คาง หรือคล้องหูไว้หนึ่งข้าง เปิดทั้งจมูกและปาก ซึ่งเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ไม่เกิดประโยชน์อันใด

กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดการระบาดหลายครั้งในประเทศ และเป็นพื้นที่ที่มีสถานที่แออัดจำนวนมาก การใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้นำเอาระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาติดตามการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนในกรุงเทพฯ แบบเรียลไทม์ ทำให้เห็นพฤติกรรมการใส่หน้ากากของชาวกรุงเทพฯ อย่างน่าเชื่อถือ

โดยรวมแล้ว พบว่าชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ต้นปี 2564 เป็นต้นมาพบแนวโน้มการใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องราว 97% และค่อยๆ ลดลงตามสถานการณ์การระบาดที่ดีขึ้น และได้ลดลงต่ำสุดถึง 92% ในช่วงกลางเดือนมีนาคมก่อนมีการประกาศระบาดคลัสเตอร์ตลาดบางแคและสถานบันเทิง ภายหลังการระบาดระลอกใหม่ สัดส่วนประชาชนที่ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้องกลับขึ้นมาสูงใหม่ที่ 98%

การเห็นพฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยของประชาชนได้แบบเรียลไทม์ เป็นข้อมูลสำคัญในการประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ และทำให้เข้าใจพฤติกรรมของคนได้มากยิ่งขึ้น เช่น ข้อมูลดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นว่า คนกรุงเทพฯ มีแนวโน้มการ์ดตกในช่วงเย็นมากกว่าช่วงเช้า และวันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดมากกว่าวันทำงาน

พฤติกรรมการใส่หน้ากากอนามัยของชาวกรุงเทพฯ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 เป็นหนึ่งในพฤติกรรมสุขภาพคนไทยที่นำเสนอใน 10 หมวดตัวชี้วัดสุขภาพพื้นที่ หากสนใจรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติม รอติดตามได้ในรายงานสุขภาพคนไทย 2564 เร็วๆ นี้


ภาพประกอบโดย  www.freepik.com


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333