บทความสั้น
โกดังพลุผิดกฎหมาย หายนะระยะยาวของชุมชน
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
เรื่องพิเศษ | กันยายน 2566

จากข่าว “โศกนาฏกรรมโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิดที่ชุมชนตลาดมูโนะ” ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม 2566 ที่นอกจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้ว ชุมชนมูโนะอาจจะต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางน้ำและอากาศ จากสารเคมีอันตรายที่ใช้ทำพลุและดอกไม้ไฟอีกด้วย

ตามกฎหมายแล้ว การตั้งโกดังเก็บพลุต้องเป็นไปตามมาตรฐาน คือ ควรมีรั้วห่างจากอาคารอย่างน้อย 20 เมตร และต้องเตรียมพื้นที่ไว้เผื่อกรณีที่ชุมชนขยายตัวเข้ามาใกล้โกดัง โดยห้ามเข้าใกล้ในรัศมี 100 ถึง 500 เมตร จึงจะปลอดภัยต่อทรัพย์สินและชีวิตของคนในชุมชน โดยไม่รวมถึงผลกระทบด้านมลภาวะที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมหากเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น

ซึ่งในการผลิตดอกไม้ไฟให้ได้ขนาด สี และรูปทรงตามที่ต้องการจะต้องอาศัย “ปฏิกิริยาจากสารเคมีและความร้อน” เช่น สีแดงได้จากลิเธียม สีเขียวได้จากสารแบเรียมไนเตรต หรือสีฟ้าได้จากทองแดง เพื่อให้เกิดความสวยงามและยังต้องใช้ดินปืนเพื่อจุดระเบิดให้ดอกไม้ไฟพุ่งขึ้นไป ทำให้ดอกไม้ไฟจะต้องใช้สารเคมีหลายชนิดในการผลิต

สารเคมีและดินปืนที่ใช้ทำพลุและดอกไม้ไฟจะถูกเผาไหม้จากการระเบิดกลายเป็น “สารพิษตกค้างในแหล่งน้ำและอยู่ในชั้นบรรยากาศ” ทำให้เกิด “ปัญหาด้านสุขภาพ” ไม่ว่าจะเป็นการระคายเคืองต่อผิวหนัง หู ตา ระบบทางเดินหายใจ จนไปถึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบย่อยอาหารได้

หนึ่งการศึกษาที่ดำเนินการใน ออลบานี นิวยอร์ก ทันทีหลังจากการเฉลิมฉลองพบว่า “ความเข้มข้นของมลพิษ PM อาจสูงกว่าปกติถึง 8 เท่าในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังการแสดงดอกไม้ไฟ” ซึ่งเป็นการเกิดปฏิกิริยาเดียวกัน แต่ที่มูโนะเป็นการระเบิดที่รุนแรงกว่าและมีปริมาณสารเคมีถึง 5,000 กิโลกรัม

แม้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขจะลงพื้นที่และยืนยันว่าไม่มีปัญหาคุณภาพอากาศจากสารเคมี แต่การระเบิดของพลุและดอกไม้ไฟยังก่อให้เกิดฝุ่นควันขนาดเล็กที่เป็นส่วนหนึ่งของ “PM2.5” ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและส่งผลต่อปัญหาสุขภาพของคนในชุมชนระยะยาวต่อไป

 

ยังมีอีกหลายบทความทางสุขภาพที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ “สุขภาพคนไทย”
ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : @thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30วิสุขภาพคนไทย)


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333