บทความสั้น
“ภาวะเครียดจากการเสพข่าว” รู้ทัน ป้องกันไว้ ให้สุขภาพจิตดี !
Home / บทความสั้น

คณะทำงานจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย
สถานการณ์เด่น | กรกฎาคม 2566

ผ่านพ้นครึ่งปีแรกไป แต่หลายคนกลับรู้สึกว่า ช่วงนี้มีแต่เหตุการณ์ร้าย ๆ ที่สร้างความหดหู่ และสะเทือนใจอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเสพข่าวจากช่องทางไหน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเครียด ทั้งข่าวอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวต่างประเทศ รวมไปถึงข่าวการเมือง

ทำไมเราถึงรู้สึกเครียดมากกว่าปกติ? วันนี้รายงานสุขภาพคนไทย จึงขอรวบรวมมาให้ทุกท่านได้ทราบแล้วครับ

การติดตามข่าวสารที่ได้รับความสนใจในวงกว้าง และเสพข่าวต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ เนื่องจากข่าวและเนื้อหาต่าง ๆ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ โทรศัพท์ และสื่อออนไลน์ สร้างความเศร้า ความเครียดสะสม และความหดหู่มากเกินไปได้

เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Mahidol Channel” ได้เผยแพร่บทความจาก ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับภาวะ Headline Stress Disorder

“Headline Stress Disorder” คือ ภาวะเครียดหรือวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มากเกินไป โดยภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า

โดยผู้ที่มีอาการดังกล่าวสามารถจัดการกับ “ภาวะเครียดจากการเสพข่าว” ได้ด้วยตนเอง ดังนี้

  1. จำกัดเวลาในการเสพข่าว
  2. หากเครียดมาก ควรงดเสพข่าว หรืองดใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก
  3. อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าวมักใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
  4. ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กันมาก
  5. อ่านข่าวที่ดีต่อสุขภาพจิต อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่
  6. ทำกิจกรรมเพื่อผ่อนคลายจากภาวะเครียด เป็นต้น

ยังมีอีกหลายบทความเกี่ยวกับ “สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ” ที่น่าสนใจ ให้ทุกท่านได้อ่านกันใน “รายงานสุขภาพคนไทย เล่มปี 2566” สามารถอ่านฟรีได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ www.thaihealthreport.com หรือติดต่อขอรับหนังสือผ่านทางอีเมลได้ที่ thaihealthipsr@gmail.com


ติดตามทุกความเคลื่อนไหว ของ ‘สุขภาพคนไทย’
ได้ที่ www.thaihealthreport.com
Facebook : สุขภาพคนไทย
Instagram : thaihealthreport
TikTok : @thaihealthreport (30วิ สุขภาพคนไทย)

เรียบเรียงข้อมูลใหม่ เพื่อเผยแพร่ในหมวด : สถานการณ์เด่น ฯ

แหล่งอ้างอิงเพิ่มเติม :

 


รายงานสุขภาพคนไทย

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
เลขที่ 999 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 531, 532, 630 โทรสาร 02-441- 9333